วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)





การวิจัยเชิงสำรวจ
(Survey Research)

“การวิจัย” หมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อตอบคำถาม หรือ ปัญหาที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โดยมีการกำหนดคำถามวิจัย ซึ่งอาจได้มาจากการศึกษาเอกสารและ/หรือประสบการณ์ตรง มีการวางแผนการวิจัย หรือเขียนโครงการวิจัย สร้างเครื่องมือเพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิจัย รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานการวิจัย

ประเภทของการวิจัย

.
การวิจัยที่ใช้ในวงการศึกษามีอยู่หลายประเภทสำหรับการวิจัยที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในรายวิชาโครงการ ผู้เขียนขอเสนอแนะไว้เพียง 3 ประเภท คือ การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงทดลอง และการวิจัยและพัฒนา

การวิจัยเชิงสำรวจ

.
การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการวิจัยที่เน้นการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันการดำเนินการวิจัยไม่มีการสร้างสถานการณ์ เพื่อศึกษาผลที่ตามมาแต่เป็นการค้นหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว นักวิจัยไม่สามารถกำหนดค่าของตัวแปรต้นได้ตามใจชอบ เช่น ผู้วิจัย ต้องการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน/นักศึกษาต่อการให้บริการทางด้านการเรียนการสอนของวิทยาลัย และต้องการศึกษาว่าเพศชายและเพศหญิงจะมีความคิดเห็นต่างกันหรือไม่ ในกรณีนี้ตัวแปรต้นคือเพศ และค่าของตัวแปรต้นคือ ชายและหญิง จะเห็นได้ว่าค่าของตัวแปรต้นเป็นสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว นักวิจัยไม่สามารถกำหนดได้เองว่าต้องการให้ค่าของตัวแปรเพศเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง

ความหมายของการสำรวจ (Definition of the Survey)

.
เป็นเทคนิคทางด้านระเบียบวิธี (methodological technique) อย่างหนึ่งของการวิจัย ที่ใช้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจากประชากรหรือกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้การสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถามชนิด self-administered questionnaire

.
Survey มีความคล้ายคลึงกับการออกแบบวิจัยเชิงเตรียมทดลอง (preexperimental design) ที่ Campbell และ Stanley ให้ความหมายว่าเป็น “one-shot case study” คือ เป็นการเก็บข้อมูลในเวลาขณะใดขณะหนึ่ง (at one point in time)

- ไม่มีการเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นอยู่ก่อน
(no “before” observations are made)
- ไม่มีการควบคุมตัวแปรที่ทำการทดลอง
(no control excercised over experimental variables) และ
- ไม่มีการสร้างกลุ่มควบคุม
(no control groups are explicitly constructed) เพื่อการทดลอง
มีแต่เพียงกลุ่มที่ทำการศึกษาในเวลาขณะนั้นเท่านั้น แล้วทำการสอบถามตามประเด็น (issues) ที่ต้องการ เช่น พฤติกรรม ทัศนคติ หรือความเชื่อต่างๆ เป็นต้น

.
จากคำจำกัดความข้างต้น ไม่ได้เป็นการจงใจที่จะชี้ให้เห็นว่า survey analysts ไม่ได้กระทำเหมือนกับ the true experimental Design ในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยทางด้านนี้ก็ได้มีการกระทำเช่นกัน โดยใช้วิธี multivariate analysis คือ ภายหลังจากการเก็บข้อมูลแล้ว กลุ่มตัวอย่างจากถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ที่มีความแตกต่างกันเพื่อการวิเคราะห์ ( the sample is divided into subgroups that differ on the variables or processes being analyzed) ตัวอย่างเช่นในการศึกษาทัศนคติของบุคคลต่อความสัมพันธ์ทางเพศในการแต่งงาน นักวิจัยจะแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ยังไม่เคยแต่งงาน (never married) กลุ่มที่แต่งงานแล้ว (currently married) และกลุ่มที่แต่งงานแล้ว และเป็นหม้ายหรือหย่าร้าง (those married previously but now divorced or widowed) ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะคล้ายคลึงกับ experimental design แบบ two experimental groups and one control group คือ 2 กลุ่มทดลองก็จะเป็นพวกที่แต่งงานแล้ว (had been married) และกลุ่มควบคุมก็จะเป็นพวกที่ยังไม่ได้แต่งงาน (never - married group)

.
รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research Design)

.
Survey Designเป็นการดำเนินการเก็บข้อมูลที่ต้องการศึกษาประชากรส่วนใหญ่จากลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งของประชากรกลุ่มนั้น ซึ่งได้มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในหมู่นักสังคมวิทยาในยุคปัจจุบัน การสำรวจมีลักษณะเหมือนกับการทดลอง คือ เป็นทั้งวิธีการวิจัย (method of research) และการวิเคราะห์เงื่อนไขในทางสังคมจิตวิทยา




ประเภทของรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ

.
นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้แบ่งรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ ออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น
.

Warwick and Lininger แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

.
1. The Single Cross Section Design
2. Designs for Assessing Change

.
Hyman แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

.
1. การสำรวจแบบพรรณนา (Descriptive Surveys)
2. การสำรวจแบบอธิบาย (Explanatory Surveys)

.
Oppenheim แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

.
1. รูปแบบการพรรณนา (Descriptive Designs)
2. รูปแบบการวิเคราะห์ (Analytic Designs)

.
Krausz and Miller แบ่งรูปแบบการวิจัยสำรวจออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

.
1. ศึกษากลุ่มเดียวขณะใดขณะหนึ่ง (One – shot case study)
2. ศึกษากลุ่มเดียวซ้ำกันหลายครั้ง (One group recurrent study) หรือเรียกอีกอย่างว่าการศึกษาซ้ำ (Panel design)
3. ศึกษาเปรียบเทียบภายหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว (Comparison groups ex post facto study) มี 2 ประเภทย่อยๆ คือ

.
3.1 Cross – sectional design
3.2 Target – control group design

.
4. ศึกษาเปรียบเทียบซ้ำกันหลายครั้ง (Comparison group recurrent study) หรือเรียกอีกอย่างว่าการศึกษาในระยะยาว (Longitudinal designs) มี 3 ประเภทย่อย ๆ คือ

.
4.1 cohort-sequential design
4.2 time-sequential design
4.3 cross- sequential design

.
Denzin ได้แบ่งรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

.
1. Nonexperimental Designs
- One-shot case study
- One-group pretest-posttest design
- Static-group comparison survey

.
2. Quasi-experimental Designs
- Same-group recurrent-time-series survey without comparison group
- Different-group recurrent-time series survey without comparison groups
- Same-group recurrent-time-series survey with comparison groups

.
สำหรับการอธิบายรายละเอียดของรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจในตอนต่อไปนี้ จะใช้ตามเกณฑ์ของ Denzin ซึ่งได้แบ่งประเภทของ Survey Design โดยใช้เกณฑ์ของ Experimental Design เป็นเกณฑ์ โดยอ้างว่ายุทธวิธีทางระเบียบวิธี (methodological strategy) ของการสำรวจจะต้องเกี่ยวข้องกับการสุ่มตัวอย่างเป็นอย่างมาก โดยอ้างถึงตัวแบบของการทดลอง (classical experimental model) ว่ามี 4 องค์ประกอบ คือ

.
1. นักวิจัยควบคุมเงื่อนไขของการกระทำ (control by the investigator over the treatment conditions)
2. การศึกษาซ้ำ (repeated observations)
3. การสร้างกลุ่มเปรียบเทียบ (construction of two or more comparison group : experimental and control) และ
4. การใช้กระบวนการสุ่มตัวอย่างเป็นเทคนิคในการกำหนดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (the use of randomization as a technique for assignment of objects to experimental and control groups)

Non experimental Designs

.
เป็นรูปแบบการวิจัยที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการสำรวจ ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้กฎเกณฑ์ 4 อย่าง ของรูปแบบการทดลอง (คือการสุ่มตัวอย่าง การใช้กลุ่มควบคุม การศึกษาซ้ำ และการควบคุมตัวแปรทดลอง) อาจจะไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างก็ได้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ คือ
.

a. One-shot case study
Case Study เป็นการศึกษาหน่วยทางสังคมหนึ่งหน่วยหรือหน่วยที่มีจำนวนเล็กน้อยอย่างลึกซึ้ง (intensive investigation) เช่น อาจจะเป็นบุคคล ครอบครัว องค์การทางสังคมต่างๆ ซึ่งนักวิจัยจะต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในหน่วยสังคมนั้นๆ ขณะทำการศึกษา วิธีการนี้เป็นที่นิยมกันในการวิจัยทางมานุษยวิทยา
เป็นวิธีการศึกษาตัวอย่างแบบถ้วนทั่ว (holistic method) แม้ว่านักสถิติทางสังคมศาสตร์จะวิจารณ์ว่า การใช้วิธีการแบบนี้ศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นระเบียบวิธีที่ไม่สามารถทำให้ผลของการศึกษาอธิบายได้ในลักษณะทั่วไปก็ตาม แต่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในขั้นต้น (preliminary approach) ในการที่จะค้นหาตัวแปรที่สำคัญๆ (significant variables) และการจำแนกประเภท (categories) เพื่อนำไปสู่การสร้างสมมติฐานที่จะนำไปใช้ในการศึกษาและทดสอบต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย ในการวิจัยทางสังคมวิทยา

.
ความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์การวิจัยของ design แบบนี้ นอกจากเพื่อการพรรณนา (Descriptive) แล้ว อาจจะประยุกต์นำไปใช้กับการอธิบาย (explanation analysis) และการประเมินผล (Evaluation) ได้บ้างถ้าเป็นการศึกษาแบบเจาะลึก (Intensive Study) ดังนั้นรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการเลือกสุ่มมาจากประชากรเพื่อวิเคราะห์เหตุและผล ( causally analyzed ) โดยวิธี multivariate analysis ถ้ามีการใช้ sampling model เรียก design แบบนี้ว่า weighted one-shot survey design แต่ถ้าไม่ได้ใช้ sampling model ในการเลือกตัวอย่าง เราเรียก design แบบนี้ว่า nonweighted one-shot survey design

.
รูปแบบการวิจัยประเภทนี้ มีลักษณะอ่อนที่สุด (the weakest) ในบรรดารูปแบบของการวิจัยสำรวจ เพราะไม่มีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบในการศึกษา ไม่มีการวัดข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อน ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างอิงถึงลำดับขั้นของเวลา (time order) ได้ เพราะใช้เวลาการเก็บข้อมูลศึกษาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม Stouffer กล่าวว่า รูปแบบย่อย 2 ชนิดของ One-shot case study นี้ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการวิจัยสำรวจสมัยใหม่มาก เพราะสามารถใช้เป็นยุทธวิธีที่สำคัญในการสร้างข้อเสนอตามหลักเหตุผล (formulating causal proposition) เพื่อช่วยให้สามารถนำทฤษฎีมาชี้แนะและนำกระบวนการสุ่มตัวอย่างมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

.
จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้น นักวิจัยสามารถแก้ไข สามารถประยุกต์หรืออ้างอิงความเป็นเหตุผลได้ด้วยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อย แล้วค้นหาลักษณะที่เหมือนกันและที่แตกต่างกัน ซึ่งพอจะช่วยให้สามารถค้นหาความเป็นเหตุผลได้อย่างหยาบๆ (rough indication) เพื่อเป็นพื้นฐานการศึกษาในระดับสูงต่อไป

.
b. One-group pretest-posttest design

.
เป็นรูปแบบการศึกษา 2 ครั้งในกุล่มตัวอย่างเดียวกัน มีลักษณะคล้ายกับ “before after” true experimental model แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีกลุ่มควบคุม (control group) ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดตรงที่ว่า นักวิจัยไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อะไรเกิดขึ้นถ้ากลุ่มตัวอย่างไม่ได้แสดงออกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะว่า ไม่มีสถานการณ์เปรียบเทียบ คงรู้แต่เพียงผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ผู้วิจัยจำต้องมีความระมัดระวังเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ ถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องมือวัด จะทำให้เกิดการบิดเบือนในการวิเคราะห์ความเป็นเหตุผลได้ รูปแบบนี้มีลักษณะเด่นกว่า One-shot case study ตรงที่ว่ามีการศึกษาซ้ำ (repeated observations)

.
รูปแบบนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่า repeated-measured design แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเป็น One-group pretest-posttest design เสมอไป เพราะนักวิจัยอาจศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเดียวกันภายใต้สถานการณ์สองหรือมากกว่าก็ได้ที่แตกต่างกัน

.
c. Static-group comparison survey

.
ในสมัยก่อนรูปแบบการวิจัยแบบนี้ เรียกอีกชื่อว่า ex post facto survey หรือ“after-only” preexperimental design เป็นการเลือกสุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม (อาจจะสุ่มหรือไม่สุ่มก็ได้) มาศึกษาเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มที่ต้องการจะวิเคราะห์ เรียกว่า กลุ่มเป้าหมาย (target sample) อีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้สำหรับเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น เรียกว่า กลุ่มควบคุม (control sample) แต่รูปแบบนี้มีลักษณะเป็นการศึกษาในเวลาเพียงขณะเดียวเท่านั้น (only one point)

.
ข้อจำกัดของรูปแบบนี้ คือ ไม่มีข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน (there are no “before” observation) ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นจะต้องอ้างถึงว่า อะไรได้เกิดขั้นก่อนในการศึกษาครั้งนี้ จากข้อจำกัดอันนี้ ทำให้มีปัญหาในการตีความและเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม ว่าแตกต่างกันเนื่องจากเหตุการณ์ที่ศึกษา (critical event) หรือแตกต่างเนื่องจากสาเหตุอื่น

.

มีสาเหตุ 2 ประการ ที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น คือ

.
1. ผลจากการสุ่มตัวอย่าง เนื่องจากนักวิจัยขาดความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับประชากรที่จะศึกษา เพื่อที่จะช่วยให้การสุ่มตัวอย่างมีประสิทธิภาพในความเป็นตัวแทน (sufficiently representative) ดังตัวอย่าง Goode ได้แสดงให้เห็นความยากลำบากที่นักวิจัยต้องเผชิญหน้าในการศึกษาขั้นสำรวจเกี่ยวกับหญิงหม้าย (divorced women) โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจากชุมชนแห่งหนึ่ง (one geographical area) ซึ่งมีอัตราการหย่าร้างสูงในขณะทำการศึกษา ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นสูง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอัตราการหย่าร้างของทั้งประเทศ ซึ่งจำแนกตามขั้นทางสังคม ซึ่งพบว่าอัตราการหย่าร้าง มักจะเกิดขึ้นมากในหมู่คนขั้นต่ำทางสังคม (lower classes) ผลจากการศึกษาครั้งนี้ เป็นการช่วยให้ Goode ได้ปรับฐานของการสุ่มตัวอย่าง (sampling base) ให้ใกล้เคียงกับอัตราส่วนเฉลี่ยของทั้งประเทศ

.
2. อคติ (bias) ที่เกิดจากการใช้ปัจจัยที่เกี่ยวกับบุคคลและสังคม (personalsocial factors) เป็นเกณฑ์ในการจับคู่หรือจัดประเภท (matching) กลุ่มตัวอย่างใน target sample และ control sample ไม่ว่าจะเป็นแบบให้ความหมายแน่นอน (precision) หรือโดยการควบคุมการกระจายของความถี่ก็ตาม นักวิจัยจะต้องจัดบุคคลเข้าสู่กลุ่มให้ได้ทั้งหมด อคติที่จะเกิดขึ้นอยู่ตรงนี้ถ้านักวิจัยไม่สามารถจัดกลุ่มคนที่จะศึกษา เข้าไว้ในกลุ่มทั้งสองตามเงื่อนไขได้ นักวิจัยจะต้องทำให้กรณีปัญหานี้หมดไป เพราะจะทำให้เกิดอคติขึ้นมาในกลุ่มตัวอย่างจริงๆ เพราะถ้าประชากรที่จะศึกษามีขนาดเล็ก อคติในกรณีนี้ ที่เกิดจากการไม่สามารถจับคู่ จะมีผลต่อเนื่องหรือขยายกว้างออกไป ทำให้ target sample มีขนาดเล็กเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาอีก ดังที่ Freedman ได้ชี้ให้เห็นว่า การใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กมากๆ มาจับคู่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาเพราะยิ่งกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กก็จะยิ่งเพิ่มความน่าจะเป็นต่อการไม่สามารถควบคุมปัจจัยทดสอบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้การเปรียบเทียบไม่มีความเที่ยงตรงอย่างเพียงพอ

.
นอกจากอคติ 2 ประการข้างต้นแล้วเกี่ยวกับรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ ซึ่งมีจุดสนใจตรงเหตุการณ์ในปัจจุบันเท่านั้น เพื่อมุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับนัยสำคัญของความแปรผันที่เกิดขึ้น ไม่ได้มุ่งคาดการณ์เหตุการณ์ ดังนั้นนักวิจัยจะต้องป้องกันผลกระทบจากปัจจัยทางวุฒิภาวะ และประสบการณ์แต่หนหลัง ( maturational and historical factors) ของกลุ่มบุคคลที่ศึกษา ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการวิเคราะห์

.
จุดเด่นของรูปแบบนี้ คือมีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบ (comparison group) แต่มีจุดอ่อนตรงไม่มีผลของการศึกษาที่เกิดขึ้นก่อน (absence of before measures) จึงมีปัญหาต่อการอ้างอิงถึงความเป็นเหตุและผล (causal inference)

.
เกี่ยวกับรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ ซึ่ง Krausz and Miller เรียกว่า Comparison Group Ex Post Facto Study Design เช่นกันนั้น เขาได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

.
1. Cross – Sectional Design
2. Target / Control Groups Design
Cross – Sectional Design มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ

.
1. เป็นการศึกษาในระยะเวลาขณะหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการศึกษาในแง่ของความคงที่ (static study )
2. จุดสำคัญของการศึกษา คือ โครงสร้างของระบบ (structure of the system) รูปแบบของคุณลักษณะของระบบ (patterns of system properties) และ ลักษณะการจัดประเภทในส่วนต่างๆ ของระบบ (arrangement of system parts)

.
จุดอ่อนของ Cross – Sectional Design คือ บอกได้แต่เพียงสหสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่สามารถบอกความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล (cause – and effect relationship) ถ้านักวิจัยต้องการทราบความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ก็ต้องใช้รูปแบบของ Longitudinal or Before and After Designs

.
ส่วน Target / Control Groups Design นั้น มีการสร้างกลุ่มควบคุมขึ้นมาศึกษาพร้อม ๆ กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา โดยกลุ่มควบคุมจะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงให้เราทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกลุ่มทดลองหรือกลุ่มเป้าหมาย (experimental or target group) ถ้าไม่มีการทดลองหรือดำเนินการกับตัวแปรที่เป็นปัจจัยทดสอบจุดมุ่งหมายของ design แบบนี้ ก็เพื่อค้นหาผลกระทบของตัวแปรที่เป็นปัจจัยทดสอบ (to discover effect of a test variable)

.

Quasi-Experimental Designs

.
ลักษณะสำคัญของการวิจัยสำรวจประเภทนี้ คือ มีการศึกษาซ้ำ (repeated observation) มีการสุ่มตัวอย่าง (randomization) มีการนำลักษณะการทดลองไปใช้ในสภาพการณ์ที่เป็นธรรมชาติและ การเลือกใช้กลุ่มเปรียบเทียบ (the optional use of comparison groups) แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ คือ

.
a. Same-group recurrent-time series survey without comparison group
เป็นการศึกษาซ้ำในกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวตลอดระยะเวลาของการศึกษาคล้ายกับรูปแบบ การทดลองประเภท “before-after” experimental แต่ไม่มีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่าง อาจจะสุ่มมาอย่างใช้ตัวแบบหรือไม่ใช้ตัวแบบ (weighied or unweighted basis) ก็ได้ มีลักษณะแตกต่างจากรูปแบบ one-group pretest-posttest survey ตรงที่มีการศึกษามากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป แต่ก็จะเกิดปัญหาเหมือน ๆ กัน อันเป็นผลจากการศึกษาซ้ำๆ (repeated observation) เช่น ปัญหาจาก intrinsic test factors การขาดหาย หรือการเบื่อหน่ายของกลุ่มตัวอย่างที่จะให้ข้อมูลแก่เรา เพราจะต้องใช้เวลาในการศึกษาหลายครั้ง เช่น การตาย การเจ็บป่วย การหลีกหนี และการเปลี่ยนความคิดที่จะให้ความร่วมมือ เป็นต้น ถ้าระยะเวลาของการศึกษายาวนานเกินไป (1 ปีหรือมากว่าขึ้นไป) บุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่างอาจจะปลีกตัวออกจากกลุ่มไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้การศึกษาในครั้งหลังแตกต่างจากครั้งแรกๆ นอกจากนี้ historical factors ที่เกิดขึ้นในระหว่างการศึกษาก็อาจเป็นเหตุสำคัญมากกว่าเงื่อนไขของการทดลองก็ได้

.
design แบบนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า panel design (รูปแบบการศึกษาซ้ำ) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาการเปลี่ยนแปลง หรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในกลุ่ม ซึ่งโดยทั่วๆ ไป จะมีการสร้างสมมติฐานที่เป็นเหตุผล (Causal hypotheses) ขึ้นมา ภายหลังจากการศึกษาสถานการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิด panel design ขึ้นมา คือ ความสนใจในตัวผู้ตอบข้อมูลว่ามีการเรียนรู้ในบทบาทเฉพาะมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ปัจจัยที่ทำลายความเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่าง เป็นต้น

.
design แบบนี้ มีประโยชน์ในการวิจัยทางสังคมวิทยามาก เพราะเป็นตัวแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในคุณลักษณะของบุคคล บทบาท ระบบย่อย หรือส่วนอื่นๆ ของระบบ เพื่อชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของระบบทั้งระบบ ซึ่งสามารถนำไปศึกษาหรือวิเคราะห์กระบวนการทางสังคม (Social process) และการวิจัยความเป็นพลวัตรทางสังคม (dynamic social research) โดยวิธีการศึกษา (form of study) เป็นประเภทสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (participant observation) โดยนักวิจัยเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ศึกษาตลอดเวลา

.
ตัวอย่างของงานวิจัยในระดับคลาสสิคของ design แบบนี้ คือ การศึกษาพฤติกรรมในการออกเสียงเรื่อง “ The People’s Choice” ของ Paul F. Lazarsfeld , Bernard Berelson and Hagel Gaudet ได้ทำการวิจัย ซึ่งตอนหลังได้ตีพิมพ์ครั้งใหม่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1944

.
b. Different-group recurrent-time series survey without comparison groups
เป็นการศึกษาประชากรอย่างต่อเนื่อง (recurrent observations) แต่ไม่ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงกลุ่มเดียว ในการศึกษาแต่ละครั้งจะสุ่มตัวอย่างมาจากประชากรเดิมทุกครั้งโดยไม่ใช้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาในครั้งก่อน แต่ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างใหม่จะต้องมีลักษณะคล้ายคลึง (similar) กับกลุ่มตัวอย่างเดิม เหตุที่ทำเช่นนี้ เพื่อควบคุมผลกระทบที่เกิดจาก intrinsic factor (แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา) ตัวอย่างของการศึกษารูปแบบนี้ คือ การสำรวจความคิดเห็นในการออกเสียงเลือกตั้ง (public opinion polls) ของ Gallup และ Harris ซึ่งเป็นการศึกษาทัศนคติของประชากรที่มีต่อลักษณะทางการเมืองหรือเหตุการณ์ทั่วๆ ไปในระยะเวลาต่างๆ

.
ข้อสังเกต คือ การวิจัยรูปแบบนี้ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการศึกษาซ้ำ (repeated observation ) ถึงการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติหรือพฤติกรรมและมีลักษณะอ่อนกว่า the same group design เพราะว่านักวิจัยไม่สามารถที่จะศึกษาหน่วยของการวิเคราะห์ได้ทุกๆ มิติ

.
design แบบนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปแบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Successive Design) เป็นการคัดเลือกและศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ต่างกัน 2 กลุ่ม (หรือมากกว่า) ในเวลาที่ต่างกันจากประชากรเดียวกัน เรียกอีกรูปแบบหนึ่งว่า อนุกรมเวลา (time series) ซึ่งนำไปใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้ม (trend analysis)

.
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษาแนวโน้มหรือการศึกษาในรูปของกระบวนการไม่ได้เข้มงวดเกี่ยวกับการเลือกระยะเวลาที่ศึกษาแต่จะเกี่ยวข้องกับการเลือกลักษณะหรือมิติของระบบที่จะศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาโดยสามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมเมื่อ

.
1. มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นเพื่อพรรณนาการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและพฤติกรรมของประชากร
2. เมื่อต้องการพรรณนา วิเคราะห์หรือประเมินผล ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือจากการกระทำต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สงคราม การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การรณรงค์การเลือกตั้ง หรือการเปลี่ยนแปลงในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
3. เมื่อกลุ่มประชากรนั้นถูกสอบถามหรือได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

.
c. Same – group recurrent – time – series survey with comparison groups

.
นักวิจัยได้สร้างกลุ่มเปรียบเทียบ (comparison group) หรือ control group ขึ้นมา ในเวลาที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นเป้าหมาย (target group) ซึ่งได้มาโดยการสุ่ม (random selection) เพื่อใช้ศึกษาตลอดในช่วงเวลา (over a long period of time) ของการวิจัยรูปแบบการวิจัยนี้มีชื่อเรียกว่า Longitudinal design หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Sequential Design

.
Design นี้สามารถแสดงถึงธรรมชาติของการเจริญเติบโต (growth) และลักษณะของการเปลี่ยนแปลงในบุคคล และเป็นรูปแบบเดียวเท่านั้นที่แสดงถึงลักษณะเหตุและผลของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างแท้จริง เหตุผลสำคัญของการศึกษาแบบนี้ เพื่อควบคุมปัจจัยความเที่ยงตรงภายใน (internal validity factors) เช่น ผลการสัมภาษณ์ วุฒิภาวะ เวลา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มักจะมีผลกระทบต่อรูปแบบการวิจัยแบบอื่นๆ มาก

.
ผลจากการศึกษา เมื่อมีข้อแตกต่างระหว่าง comparison and focal samples นักวิจัยจะต้องถามตัวเองว่า ความแตกต่างนี้มีสามเหตุมาจากการสัมภาษณ์ซ้ำใน target sample หรือว่า เป็นข้อแตกต่างโดยธรรมชาติจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้านักวิจัยสามารถลงความเห็นว่าความแตกต่างนี้เกิดจากกระบวนการการสัมภาษณ์ในขณะทำการศึกษา ก็แสดงว่าเกิดความคลาดเคลื่อน (error) ขึ้นแล้วในการสำรวจ ซึ่งสามารถควบคุมได้โดยฝึกฝนพนักงานสัมภาษณ์ (Interview retraining interviewers) จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสัมภาษณ์ (Interview Schedule) และจะต้องมีการจดบันทึกการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในขณะทำการสัมภาษณ์ target sample ด้วย ตัวอย่าง เช่น ถ้ากลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาแสดงความไม่พอใจ (unfavorable responses) ออกมา แต่ในกลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้แสดงออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถให้เหตุผลได้ว่า ผู้สัมภาษณ์ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นมา

.
ยุทธวิธีการวิเคราะห์ของการวิจัยรูปแบบนี้ ก็เพื่อต้องการแสดงถึงรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (patterns of social change) ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาในครั้งแรกจนกระทั่งถึงครั้งหลัง ตัวอย่างจากการศึกษาของ Lazarsfeld ในปี 1948 ซึ่งใช้ทัศนคติของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (voters’ attitudes) เป็นหน่วยของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้วิจัยสนใจตรงผลกระทบของสื่อมวลชน (impact of the mass media) ที่มีต่อ voters’ intentions ตั้งแต่การเริ่มรณรงค์หาเสียงเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีจนกระทั่งถึงวันที่มีการออกเสียงเลือกตั้ง การสัมภาษณ์จะมี 3 ครั้ง คือ

.
ครั้งที่ 1 ตรวจสอบหรือทดสอบความสัมพันธ์ระหว่าง ความชอบพาในพรรคการเมืองกับการเลือกที่จะออกเสียงให้กับผู้สมัคร

ครั้งที่ 2 สัมภาษณ์ซ้ำครั้งที่ 2 ในระหว่างฤดูกาลรณรงค์หาเสียง เพื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติ
ครั้งที่ 3 ศึกษาพฤติกรรมที่ออกเสียงจริงๆ

.
เมื่อทำได้เช่นนี้แสดงว่า ผู้วิจัยประสบผลสำเร็จในการเชื่อมต่อระหว่างทัศนคติกับรูปแบบของพฤติกรรม จุดมุ่งหมายพื้นฐานของการวิจัยรูปแบบนี้ เพื่อแสดงลักษณะของการเปลี่ยนแปลงและอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหน่วยที่ศึกษา ดังนั้น ข้อแตกต่างจาก design แบบอื่น คือ นักวิจัยสามารถวัดผลกระทบที่เกิดจากการสังเกตการณ์ได้มีการสร้างกลุ่มเปรียบเทียบ (comparison group) ขึ้นมา ซึ่งทำให้มีการอ้างอิงถึงความเป็นเหตุเป็นผล (causal inference) ได้สามารถระบุถึงผลกระทบของตัวกระตุ้นหรือเงื่อนไขของการทดลองได้ (ทั้งนี้เพราะมีการควบคุม factors of internal validity) จึงทำให้การวิจัยเชิงสำรวจแบบนี้ มีเครื่องมือประกอบที่จุกจิกมากที่สุด แต่ก็มีปัญหาในตัวเอง ซึ่งปัญหาที่ปรากฏชัดที่สุด คือ เรื่องการจัดหาบุคคล เพื่อให้ยินยอมที่จะถูกสัมภาษณ์ซ้ำ ซึ่ง Glock ได้ให้ข้อคิดว่าบุคคลที่ยินยอมที่จะให้สัมภาษณ์ซ้ำๆ นั้น ในตอนแรกมักจะแตกต่างจากผู้ที่จะไม่ยอมให้สัมภาษณ์ซ้ำๆ และทำนองเดียวกับผู้ที่ในตอนแรกรับปากว่าจะให้สัมภาษณ์ แต่ในตอนหลังก็จะบอกปฏิเสธออกมา ความแตกต่างเหล่านี้ นักวิจัยจะต้องระบุออกมาให้เห็นชัด เพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นของอคติของกลุ่มตัวอย่างและการคัดเลือกตัวเองที่แตกต่างกัน และนักวิจัยจะต้องประเมินลักษณะของผลกระทบที่เกิดจากการสัมภาษณ์ใหม่ออกมาด้วย ซึ่งการมีส่วนร่วมในขณะทำการวิจัย จะทำให้เกิดผลกระทบอันเป็นลักษณะของความต้องการขึ้นมาด้วย นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้มีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบหลายกลุ่ม ในการวิจัยรูปแบบนี้

.
ในขณะที่การวิจัยรูปแบบนี้ ได้ชื่อว่าเยี่ยมที่สุดในบรรดาการวิจัยสำรวจประเภทต่างๆ นั้น นักวิจัยจะต้องตระหนักถึง ผลการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดจากปัจจัยแทรกซ้อนอย่างอื่นๆ ด้วย เช่น ปัจจัยทางด้านเวลา การปฏิสัมพันธ์ และวุฒิภาวะ จุดอ่อนเหล่านี้ ปรากฏอยู่โดยทั่วไปของ design แบบนี้ ซึ่งแก้ไขได้โดยการศึกษาซ้ำ (repeated observation)

.

การศึกษาในระยะยาว หรือ Sequential Design มี 3 รูปแบบย่อยๆ คือ

.
1. Cohort – sequential design
2. Time – sequential design
3. Cross - sequential design

.
Cross - sequential design เป็นแนวความคิดที่ใช้ในทางประชากรศาสตร์ หมายถึง กลุ่ม
บุคคลที่มีลักษณะเหมือนกันหรือร่วมกัน (common characteristic) เช่น กลุ่มบุคคลที่เกิดในปี 1940 กลุ่มบุคคลที่เจ็บป่วยจากโรคเฉพาะอย่าง เมื่อนำมาใช้ในสังคมศาสตร์ทั่วไปซึ่งเรียกว่า cohort analysis นั้น

.

เป็นรูปแบบของการศึกษากลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนกัน ในระยะเวลายาว (over a long period of time) ตัวอย่างในการวิจัยทางประชากรศาสตร์ ได้มีการจัดกลุ่มสตรีออกเป็นกลุ่มตามปีที่เกิด (data of birth) หรือตามการแต่งงานแล้วศึกษาจำนวนเด็กที่เกิดจากสตรีในกลุ่มเหล่านี้ ตลอดระยะเวลาของการสืบพันธุ์ (reproductive period) โดยนำกลุ่มที่จัดเป็น cohort มาเปรียบเทียบกัน

.
cohort analysis ในทางประชากรศาสตร์นั้น นำมาใช้เป็นตัวชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากร (population change) ในระยะยาว เช่น แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการสืบพันธุ์ (pattern of reproduction) การเปลี่ยนแปลงในจำนวนหรือระยะเวลาของการเกิด เป็นต้น

.
Cohort นอกจากจะใช้ในทางสังคมวิทยาแล้ว ยังนำไปใช้ทางการแพทย์ , จิตวิทยา , psychiatric ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้นชีวิตของกลุ่มบุคคล (group of persons starting life) หรือการมีประสบการณ์ร่วมกัน (common experience together) และในทางประชากรศาสตร์ ก็ใช้เป็นหน่วยวิเคราะห์ทางประชากร (unit in demographic studies) ด้วย

.

ขั้นตอนการวิจัยเชิงสำรวจ

.
การวิจัยเชิงสำรวจ หรือ การวิจัยโดยการสำรวจ เป็นวิธีการวิจัยที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ ปัจจุบันการวิจัยทางสังคมวิทยา รัฐประศาสนศาสตร์ จิตวิทยา การบริหารธุรกิจ สาธารณสุขศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ฯลฯ ในประเทศไทยอาศัยการสำรวจเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทำการสุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งมาจากประชาการ เป้าหมายที่ต้องการศึกษาแล้วนำผลที่ได้จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างนี้อ้างอิงหรือประมาณค่าไปยังประชากรทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ในการวิจัยเชิงสำรวจจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยในขั้นตอนของการวิจัยแตกต่างจากการวิจัยในแบบอื่นๆ อยู่บ้าง

.
Denzin ได้เสนอขั้นตอนของการวิจัยเชิงสำรวจไว้ 9 ขั้นตอน คือ

.
1. การกำหนดรูปแบบของปัญหาที่จะศึกษาเป็นการกำหนดปัญหาที่จะศึกษา ศึกษาจากใคร ลักษณะการศึกษาเป็นแบบพรรณนาหรือเป็นการอธิบายและทำนายรวมไปถึงสมมติฐานที่ต้องการจะทดสอบด้วย เป็นการกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของปัญหา

2. กำหนดปัญหาเฉพาะการวิจัย แปลความหมายของแนวความคิดในปัญหาที่จะศึกษาให้เป็นตัวแปรที่สามารถวัดได้และระบุถึงกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้เป็นหน่วยในการศึกษา

3. การเลือกรูปแบบของการสำรวจ เลือกให้ตรงกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย
4. สร้างเครื่องมือในการวิจัย
5. กำหนดรูปแบบในการวิเคราะห์ข้อมูล เลือกตัวแปรอิสระ ตัวแปรตาม และตัวแปรคุมขึ้นมา พร้อมทั้งระบุมาตราหรือดัชนีของแต่ละตัวแปรไว้ให้พร้อม
6. กำหนดการเข้าตารางข้อมูล การจัดเตรียมรูปแบบการวิเคราะห์ในตอนนี้เป็นการเตรียมลงรหัสให้กับประเด็นปัญหาและข้อคำถามในแบบสอบถามเพื่อให้ง่ายต่อการแปลงข้อมูลไปสู่การวิเคราะห์ซึ่งอาจจะใช้บัตรคอมพิวเตอร์หรือใช้รูปแบบการวิเคราะห์ตาราง
7. การเตรียมการสำหรับผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ ก่อนที่นักวิจัยจะลงไปปฏิบัติงานในสนาม ผู้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นนักวิจัยผู้ช่วยจะต้องได้รับการฝึกอบรมและชี้แนะถึงที่ตั้งของพื้นที่การวิจัยและมีการกำหนดผู้ถูกสัมภาษณ์ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างจากประชากรโดยชี้แนะให้เห็นถึงถิ่นที่อยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งอาจจะใช้แผนที่เป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวก
8. การวิเคราะห์ผลของข้อมูลที่ออกมาในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยต้องมุ่งค้นหาคำตอบประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ

.
- กลุ่มตัวอย่างที่ได้ศึกษาจริงนั้นมีลักษณะรายละเอียดต่างๆ เหมือนกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้มุ่งหวังไว้หรือไม่ ถ้านักวิจัยได้ใช้ตัวแบบการสุ่มตัวอย่างทางสถิติจะต้องมีการประเมินว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้มามีความเป็นตัวแทนได้มากน้อยแค่ไหน โดยเปรียบเทียบกับแบบแผนตอนต้นที่ได้วางไว้และกับลักษณะของประชากรส่วนใหญ่
- อัตราการปฏิเสธ (Refusals rate) ที่จะตอบคำถามที่เกิดขึ้นจะต้องนำมาคิดคำนวณด้วยเพราะถือเป็นประเด็นสำคัญของการวิจัยซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าเกิดจากอคติของกลุ่มตัวอย่าง (sample bias) หรือไม่

.
9. การทดสอบสมมติฐาน ในขั้นนี้นักวิจัยจะต้องสร้างรูปแบบการวิเคราะห์หลายตัวแปรขึ้นมาเพื่อดูลักษณะความแปรผันร่วมระหว่างตัวแปร จัดลำดับก่อนหลัง ความสัมพันธ์ของตัวแปรและเมื่อกระบวนการวิเคราะห์สิ้นสุดลง นักวิจัยจะต้องกลับไปพิจารณาดูว่าข้อมูลที่ได้เหล่านี้สามารถอย่างเพียงพอหรือไม่ ที่จะทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้และผลที่ได้ออกมาสนับสนุนหรือคัดค้านสมมติฐานอย่างไรบ้าง
Denzin ได้กล่าวว่า ขั้นตอนเหล่านี้เป็นลักษณะความคิดเพื่อให้ข้อเสนอแนะว่าการวิจัยเชิงสำรวจจะแก้ปัญหา 4 ประการ ที่นักวิจัยทางด้านนี้ต้องเผชิญหน้าอยู่ตลอดเวลา คือ

.
1. การปฏิสัมพันธ์
2. เวลา
3. ตัวแบบการสุ่มตัวอย่าง
4. หน่วยของการวิเคราะห์



ความสัมพันธ์ระหว่างการสุ่มตัวอย่างกับการวิจัยเชิงสำรวจ

.
เนื่องจากการสำรวจเป็นการเลือกตัวแทนของประชากรที่เราต้องการศึกษาขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำการศึกษาโดยมีเป้าหมายเพื่อนำเอาลักษณะข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างอ้างอิงไปถึงลักษณะของประชากรที่เป็นหน่วยของการศึกษาและเนื่องจากจุดเริ่มต้นของการสำรวจเกี่ยวข้องกับข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาจากประชากรที่ทำการศึกษา ดังนั้น การคัดเลือกตัวแบบการสุ่มตัวอย่างจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำก่อน การออกแบบการศึกษาว่าจะศึกษาประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างแบบไหนและด้วยเหตุนี้จึงทำให้การสำรวจข้อมูลต้องอาศัยทฤษฏีทางคณิตศาสตร์สถิติ เกี่ยวกับความน่าจะเป็นและการแจกแจงของตัวแปรสุ่มประกอบในการวางแผนการสำรวจและการประมาณผล

การเก็บรวบรวมข้อมูล


การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มีเทคนิคแตกต่างกัน ซึ่งมี 2 วิธี คือ

.
1. การรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Data)
2. การรวบรวมข้อมูลจากสนาม (Field Data)

.
ในการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร เป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกของการวิจัย โดยเฉพาะการใช้เอกสารและสิ่งพิมพ์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการวิจัยนั้น ย่อมทำให้ได้รับประโยชน์อย่างน้อยถึง 3 ประการ ประการแรก ผู้วิจัยย่อมมองเห็นภาพของปัญหาที่จะวิจัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้อ่านเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่มีประเด็นสัมพันธ์กับปัญหาที่จะวิจัยอย่างถี่ถ้วน ประการที่สองผู้วิจัยจะได้ทราบว่าปัญหาที่จะวิจัยนั้น ได้มีผู้หนึ่งผู้ใดทำไวก่อนแล้วหรือยัง หรือมีผู้ใดได้วิจัยประเด็นบางส่วนของปัญหาที่จะวิจัยไว้บ้างแล้วหรือเปล่า และประการสุดท้าย ผู้วิจัยจะได้มีความเข้าใจอย่างกว้างขวางที่จะเลือกใช้วิธีวิจัยที่เหมาะสมและตั้งแนววิเคราะห์ที่ถูกต้อง เพื่อการวิจัยปัญหาของตน

.
ส่วนการรวบรวมข้อมูลสนามนั้น ในการวิจัยถือว่าข้อมูลสนาม (Field Data) เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามากและเป็นข้อมูลปฐมภูมิ เพราะผู้วิจัยจะต้องใช้วิธีการรวบรวมจากแหล่งต้นตอของข้อมูล และยังอาจจะมีโอกาสได้พบปะซักถามข้อเท็จจริงจากผู้ให้ข้อมูลโดยตรงอีกด้วย การรวบรวมข้อมูลสนามที่สำคัญและใช้กันทั่วไปมี 3 วิธี คือ การสังเกต (Observation) การส่งแบบสอบถาม (Questionnaire) และการสัมภาษณ์ (Interview)

.
ในการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีความสัมพันธ์กับข้อมูลสนาม (field data) มากที่สุดนั้น มีวิธีการเก็บข้อมูลที่นิยมใช้กันอยู่ 4 วิธี คือ

.
1. ใช้แบบสอบถาม ที่ผู้สัมภาษณ์ดำเนินการสอบถามเอง
2. การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
3. การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์
4. แบบสอบถามที่ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ตอบเอง

.
จากวิธีการทั้ง 4 ข้างต้นนี้ เมื่อจำแนกตามลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้เก็บข้อมูลและผู้ให้ข้อมูล สามารถแยกออกได้เป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ

.
1. สัมภาษณ์จากบุคคลโดยตรง โดยผู้วิจัยหรือพนักงานสัมภาษณ์อ่านปัญหาจากแบบสอบถามที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ฟังบางครั้งอาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แต่ก็มีข้อจำกัดมาก คือ ไม่สามารถสอบถามข้อมูลได้มาก โดยทั่วๆ ไป ไม่ควรเกิน 20 นาที

.
2. ส่งแบบสอบถามไปให้ผู้ถูกวิจัยตอบ ซึ่งถือว่าเป็นการประหยัดมาก แต่มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้กับกลุ่มบุคคลบางประเภทได้ เช่น คนที่มีการศึกษาในระดับต่ำ หรือไม่มีการศึกษา ซึ่งแม้ว่าสามารถจะอ่านแบบสอบถามได้ ก็อาจจะทำให้มีการตีความผิดพลาดได้

.
วิธีแรกถึงแม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีที่สอง แต่จะมีข้อยุ่งยากในการตอบปัญหาน้อยกว่า เพราะผู้สัมภาษณ์สามารถสอบถาม และให้คำอธิบายปัญหาแก่ผู้ถูกวิจัย ในกรณีที่เขาไม่เข้าใจคำถามได้

.
วิธีการเก็บข้อมูลทั้ง 4 วิธีที่กล่าวมา วิธีที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการวิจัยเชิงสำรวจ คือ วิธีที่ 1 เป็นการใช้แบบสอบถาม ที่ผู้สัมภาษณ์ดำเนินการสอบถามเอง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า รูปแบบการสัมภาษณ์ หรือแบบสำรวจ แต่โดยทั่วๆ ไป ก็ยังนิยมเรียกว่า แบบสอบถาม ซึ่ง แบบสอบถาม มีหลักเกณฑ์เป็นไปในทำนองเดี่ยวกันกับแบบสำรวจหรือแบบสัมภาษณ์ เพียงแต่แตกต่างกันเฉพาะวิธีการใช้เท่านั้น กล่าวคือ แบบสอบถามนั้น ปกติ หมายถึง แบบสอบถามที่ส่งไป หรือนำไปมอบให้ผู้ตอบกรอกข้อความลงเอง ส่วนแบบสำรวจ คือ แบบสอบถามที่ใช้ประกอบในการสัมภาษณ์ โดยผู้สัมภาษณ์จะเป็นผู้กรอกรายการแทนผู้ถูกสัมภาษณ์

.

การใช้แบบสอบถาม

.
แบบสอบถาม หมายถึง คำถามหรือชุดของคำถามที่เราคิดขึ้นเพื่อเตรียมไว้ไปถามผู้ที่ทราบข้อมูลตามที่เราต้องการทราบ อาจจะถามเอง ให้คนอื่นไปถาม หรือส่งแบบสอบถามไปให้กรอกตามแบบฟอร์มคำถามที่กำหนดให้ แล้วนำคำตอบที่ได้มาวิเคราะห์แปลความหมายต่อไป

.
แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้รวบรวมข้อมูลซึ่งตามปกติใช้กันมากในการวิจัยภาคสนาม เช่น การสำรวจหรือสำมะโน และการวิจัยอย่างอื่นๆ ที่ผู้วิจัยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมที่จะทำการวิจัย แบบสอบถามนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพราะใช้บันทึกข่าวสาร ความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติ (attitude) ของประชากรโดยตรง
ข้อดีของแบบสอบถาม

.
1. ค่าลงทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการสัมภาษณ์ เพราะแบบสอบถามลงทุนด้วยค่าพิมพ์และส่งไปยังผู้รับ ส่วนการสัมภาษณ์ต้องออกไปสัมภาษณ์ทีละคน ย่อมเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่า
2. การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ จะไปถึงผู้รับแน่นอนกว่า การออกไปสัมภาษณ์ซึ่งผู้ตอบอาจไม่อยู่บ้าน ไม่ว่าง หรือไม่ยินดีพบผู้สัมภาษณ์
3. การส่งแบบสอบถามไปให้คนจำนวนมาก ย่อมสะดวกกว่าการสัมภาษณ์มากนัก
4. แบบสอบถามจะไปถึงมือผู้รับได้ทุกแห่งในโลกที่มีการไปรษณีย์
5. แบบสอบถามที่ดี ผู้ตอบจะตอบอย่างสะดวกใจมากกว่าการสัมภาษณ์
6. ถ้าสร้างแบบสอบถามให้ดีแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ง่ายกว่าการสัมภาษณ์
7. สามารถควบคุมให้แบบสอบถามถึงมือผู้รับได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงทำให้การตอบ (ถ้าตอบทันที) ได้แสดงถึงความคิดเห็นของสภาวการณ์ในเวลาที่ใกล้เคียงกันได้ เป็นการควบคุมการตอบได้แบบหนึ่ง
8. ผู้ตอบต้องตอบข้อความที่เหมือนกัน และแบบฟอร์มเดียวกัน เป็นการควบคุมสภาวะทีคล้ายกัน ทำให้สรุปผลได้ดีกว่าการสัมภาษณ์

.
ข้อเสียของแบบสอบถาม

.
1. มักจะได้แบบสอบถามกลับคืนจำนวนน้อย
2. ความเที่ยง (reliability) และความตรง (validity) ของแบบสอบถามได้รับการตรวจสอบลำบาก จึงมักจะไม่นิยมหา
3. โดยปกติแบบสอบถามควรมีขนาดสั้นกะทัดรัด ดังนั้นจึงมีข้อคำถามได้จำนวนจำกัด
4. คนบางคนมีความลำเอียงต่อการตอบแบบสอบถาม เนื่องจากได้รับบ่อยเหลือเกิน หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับแบบสอบถามที่ไม่ดีมาก่อนจึงทำให้ไม่อยากตอบ
5. เป็นการเก็บข้อมูลที่ไม่ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเหมือนกับการสัมภาษณ์ซึ่งผู้ถามและผู้ตอบมีปฏิกิริยาโต้ตอบกัน แบบสอบถามให้ปฏิกิริยาโต้ตอบทางเดียว
6. แบบสอบถามใช้ได้เฉพาะบุคคลที่อ่านหนังสืออกเท่านั้น
7. แบบสอบถามที่ได้รับคืนมานั้น ผู้วิเคราะห์ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้ตอบแบบสอบถามนั้น
8. ผู้ตอบบางคนไม่เห็นความสำคัญก็อาจโยนแบบสอบถามทิ้ง โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ
.
ข้อพิจารณาในการเขียนแบบสอบถาม

.
ในการเขียนแบบสอบถามมีองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณา 4 ประเด็น คือ

.
1. ชนิดของคำถาม
2. รูปแบบของคำถาม
3. เนื้อหาของคำถาม
4. การจัดลำดับของคำถาม

.
คำถามในแบบสอบถามในลักษณะทั่วไป ส่วนใหญ่อาจแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง คือ คำถามปิดกับคำถามเปิด (Open and closed end question) คำถามปิด คือ คำถามที่ผู้ร่างได้ร่างคำถามไว้ก่อนแล้ว และให้ตอบตามที่กำหนดไว้เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น โดยให้โอกาสผู้ตอบมีโอกาสมีอิสระเลือกตอบได้น้อย ส่วนคำถามเปิด คือ คำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบๆ ได้อย่างอิสรเสรีเต็มที่ คำถามทั้งสองชนิดใช้ควบคู่กันไป ส่วนใหญ่ใช้คำถามปิดก่อน แล้วตามเก็บประเด็นความรูสึกด้วยคำถามเปิด ไว้ท้ายข้อของคำถามปิดหรือของท้ายเรื่อง
ข้อดีของแบบสอบถาม คือ

.
1. ผู้วิจัยต้องการทราบ ความคิดเห็นของผู้ตอบอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องที่ซับซ้อน ไม่สามารถร่างคำถามให้ตอบเป็นข้อย่อยๆ ได้
2. ช่วยผู้วิจัย เมื่อความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ของผู้วิจัยมีจำกัด
3. ยังมีข้อความอะไรที่เหลือตกค้าง ยังไม่ได้ตอบ ผู้ตอบจะได้ตอบมาได้ ไม่ตกค้างหรือไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในแบบสอบถาม
4. ช่วยให้ได้คำตอบในรายละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึก ความจูงใจที่ซ่อนอยู่
5. ถ้าคำถามกำหนดไว้ตายตัวมาก ผู้ตอบไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นตัวเองเพิ่มเติม จะได้เพิ่มเติมตามที่ต้องการ ทำให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น

.
ข้อเสียของคำถามเปิด

.
1. การเปิดโอกาสให้ผู้ตอบ ตอบได้โดยเสรี อาจทำให้ได้คำตอบไม่ตรงกับความต้องการ ของเรื่องที่ต้องการวิจัยได้ หรือมีส่วนตรงจุดหมายน้อย เพราะผู้ตอบไม่เข้าใจเรื่องหรือตอบนอกเรื่องที่ต้องการจะวิจัย
2. อาจจะทำให้ได้คำตอบออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเลย
3. ลำบากในการรวบรวมและวิเคราะห์ เพราะจะต้องนำมาลงรหัสแยกประเภทซึ่งทำให้ลำบากมากและเสียเวลา เพราะแต่ละคนตอบตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ไม่มีกรอบหรือขอบเขตที่กำหนดให้
4. ผู้ลงรหัสจะต้องมีความชำนาญ จะต้องมีการอบรมมาก่อน มิฉะนั้นอาจจะจับกลุ่มของคำตอบไม่ถูก จะทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนคุณค่า หรืออาจทำให้เปลี่ยนความมุ่งหมายไป

.
ข้อดีของคำถามปิด

.
1. โดยที่ได้กำหนดคำถามไว้แบบเดียวกัน เป็นมาตรฐาน จึงทำให้ได้คำตอบที่มีลักษณะเป็นมาตรฐานเดียวกัน
2. สะดวกหรือง่ายต่อการปฏิบัติในการรวบรวมเก็บข้อมูล
3. รวดเร็ว ประหยัด
4. สะดวกในการวิเคราะห์ ลงรหัส และใช้กับเครื่องจักรกลในการคำนวณ
5. ทำให้ได้รายละเอียดไม่หลงลืม
6. ได้คำตอบตรงกับวัตถุประสงค์
7. ใช้ได้ดีกับคำถามที่ไม่ซับซ้อน หรือที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง


ข้อเสียของคำถามปิด


1. ผู้ตอบไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
2. อาจจะทำให้การวิจัยไม่ได้ข้อเท็จจริงครบเพราะผู้วิจัยตั้งคำถามไว้ครอบคลุมไม่หมด
3. ถ้าคำถามไม่ชัด ผู้ตอบอาจตีความหมายต่างกัน และคำตอบผิดพลาดได้

.
หลักการเขียนคำถามโดยทั่วไป

.
1. ต้องมีจุดมุ่งหมายที่จำเพาะและชัดเจนว่าต้องการถามอะไรบ้าง
2. ต้องรู้ลักษณะของข้อมูลที่จะได้จากแบบสอบถาม ว่าจะได้ข้อมูลประเภทใดบ้างเป็นข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ ตลอดจนกลยุทธ์ที่จะให้ได้ข้อมูลเหล่านั้นมา
3. ภาษาที่เขียนต้องชัดเจนใช้ศัพท์ง่าย ๆ
4. มีการวางแผนการสร้างแบบสอบถาม และค้นคว้าข้อความต่าง ๆ จากแหล่งที่เกี่ยวข้อง
5. ทำการตรวจสอบข้อความเหล่านี้ว่าใช้ได้หรือไม่ จัดลำดับข้อให้ต่อเนื่องเกี่ยวข้องกันก่อนทำการใช้
6. ศึกษาว่าผู้ตอบแบบสอบถามเป็นใคร มีความสามารถและตั้งใจตอบหรือไม่




การสัมภาษณ์

.
การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นวิธีการเก็บข้อมูลอย่างหนึ่งของนักสังคมศาสตร์เป็นการสนทนาระหว่างนักวิจัยกับผู้ให้ข้อมูล (information) เพื่อวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล

.
วิธีการสัมภาษณ์ที่นำมาใช้กันมากที่สุดในการวิจัยเชิงสำรวจ คือ รูปแบบการสัมภาษณ์หรือตารางการสัมภาษณ์ (Interview schedule) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างโดยใช้รูปแบบของแบบสอบถาม (Questionnaire) ที่นักวิจัยได้กำหนดหัวข้อปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว นักวิจัยหรือพนักงานสัมภาษณ์ ถามนำในปัญหา แล้วบันทึกคำตอบที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบออกมา ลงในตารางการสัมภาษณ์

รูปแบบของการสัมภาษณ์

.
1. การสัมภาษณ์ที่เป็นรูปแบบมาตรฐาน (The Schedule Standardized Interview, SSI)
เป็นรูปแบบการสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างดีที่สุด ซึ่งคำพูดหรือกฎเกณฑ์ของคำถามทั้งหมด สามารถใช้ได้เหมือนกันกับผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคน ดังนั้น นักวิจัยที่ใช้การสัมภาษณ์รูปแบบนี้จะต้องพัฒนาเครื่องมือให้มีความสามารถที่จะนำไปใช้กับผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ ในแนวทางเดียวกันและเมื่อมีความแปรผันเกิดขึ้นระหว่างผู้ให้สัมภาษณ์ ก็แสดงว่า เป็นลักษณะของการแสดงออกอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพราะสาเหตุมาจากเครื่องมืออันนี้

.
เกี่ยวกับการใช้รูปแบบการสัมภาษณ์ประเภทนี้ มีข้อตกลงเบื้องต้น 4 ข้อ คือ

.
1. เชื่อว่าผู้ถูกสัมภาษณ์มิความสามารถในการเข้าใจคำที่ใช้ร่วมกัน ที่ใช้ร่วมกันต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น เราสามารถที่จะตั้งปัญหา ซึ่งผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนสามารถเข้าใจปัญหาเดียวกันได้ หรืออาจพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่าผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนที่ได้รับสิ่งกระตุ้นที่เหมือนกันจะเข้าใจขอบเขตของความหมายได้เหมือนๆ กัน

.
2. ข้อตกลงที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้รูปแบบของคำพูด เพื่อใช้เป็นคำถามให้เข้าใจได้เท่ากันแก่ผู้สัมภาษณ์ทุกคน แต่ข้อตกลงที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ที่เป็นรูปแบบมาตรฐานประเภทนี้นั้น Benney และ Hughes ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า แม้ว่าสามารถนำไปใช้กับประชากรกลุ่มใหญ่ได้ก็จริงแต่ก็ต้องเป็นประชากรที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous populations) ถ้าในกลุ่มประชากรนั้นมีภาษาที่แตกต่างกันมาก มีค่านิยมร่วมกันน้อย และเป็นที่ซึ่งความกลัวที่จะพูดกับคนแปลกหน้ามีอยู่มาก ดังนั้น การสัมภาษณ์ที่ใช้รูปแบบมาตรฐานนี้ ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ได้ เพราะคำตอบที่ได้ออกมาจะมีความเป็นมาตรฐานน้อยมาก ดังนั้น ผู้ที่ประสบกับสถานการณ์เช่นนี้ จะต้องสร้างวิธีการสัมภาษณ์แบบใหม่ขึ้นมา
ฉะนั้น ข้อจำกัดของรูปแบบการสัมภาษณ์ประเภทนี้ คือ ใช้ได้เฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีความเป็นเนื้อเดียวกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ได้แต่เพียงกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชนชั้นกลางเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ Benney กับ Hughes ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ในการวิจัยทางสังคมวิทยานั้น ผู้ถูกสัมภาษณ์จำนวนมากที่สุดจะอยู่ช่วงชั้นทางสังคมเดียวกับผู้สัมภาษณ์คือเป็นคนชั้นกลาง อาศัยอยู่ในเมือง เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากคนชั้นสูงและคนชั้นต่ำ ด้วยเหตุนี้บทบาทที่เหมาะสมของผู้ให้ข่าวสารหรือผู้ถูกสัมภาษณ์ในกลุ่มคนชั้นสูงกับคนชั้นต่ำจึงมีปรากฏอยู่น้อยมาก

.
3. เชื่อว่าผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนมีความเข้าใจความหมายของแต่ละคำถามได้เหมือนกัน ดังนั้น เนื้อหารายละเอียดที่จะสัมภาษณ์ในแต่ละคน ก็ใช้รูปแบบเรียงลำดับที่เหมือนกันซึ่งเงื่อนไขของการใช้คำถามจะต้องวางไว้ให้เหมาะสมกับความสนใจและอารมณ์ของผู้ถูกสัมภาษณ์ เกณฑ์ที่นิยมใช้กันคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของผู้ถูกสัมภาษณ์มากที่สุดไว้เป็นอันดับแรก ส่วนที่สนใจน้อยๆ วางไว้ตอนหลัง ๆ เรียงลำดับต่อกันมา ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับความรู้สึก ควรวางไว้ในตอนหลังๆ ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ โดยเฉพาะคำถามที่เป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกมากที่สุดจะต้องจัดให้เป็นคำถามสุดท้าย

.
4. จะต้องมีการนำรูปแบบของคำถามไปทดลองศึกษา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและทดสอบก่อนที่จะนำไปใช้จริงเพื่อเป็นตัวช่วยให้มีการกระทำตามข้อตกลงในข้อที่ 1, 2 และ 3 เสียก่อน โดยในกรทดสอบนั้น นักวิจัยจะต้องเลือกกลุ่มบุคคลที่เปรียบได้กับกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้ในการสัมภาษณ์จริง ๆ โดยที่คนกลุ่มนี้จะใช้เฉพาะทดสอบรูปแบบการสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น

.
จากข้อตกลงเบื้องต้นทั้ง 4 ประการของวิธีการสัมภาษณ์โดยใช้รูปแบบนี้จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่นักวิจัยกระทำได้ยากมากในการที่จะทดสอบให้มีความเชื่อถือได้ เพราะโอกาสที่จะได้ค้นพบเงื่อนไขเชิงประจักษ์ที่ต้องการมีน้อยมากและการที่จะชี้แนะถึงลักษณะของการปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์ก็จะยากที่จะทราบได้ล่วงหน้าอย่างถูกต้องแต่ถ้าเราทราบว่ากลุ่มตัวอย่างที่จะสัมภาษณ์มีลักษณะและประสบการณ์ที่เหมือนๆ กันแล้ว การใช้เหตุผลสนับสนุนข้อตกลงเบื้องต้นดังกล่าวก็ทำได้ง่าย แต่ถ้ากลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีความหลากหลาย การใช้วิธีการสัมภาษณ์รูปแบบนี้จะมีปัญหาหลายอย่าง

.
2. การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (The Nonschedule Standardized Interview or Unstructured Schedule Interview ; USI)

.
เป็นการสัมภาษณ์ที่กำหนดข้อมูลที่ต้องการจากผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคน มีลักษณะใกล้เคียงกับการสัมภาษณ์แบบเฉพาะเรื่อง (focused interview) ซึ่ง Merton กับ Kendall นำมาใช้ เงื่อนไขที่ใช้ คือ แม้ว่าเราต้องการข้อมูลต่างๆ จากผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกๆ คนแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องมีคำถามเฉพาะแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนอีกด้วย เพื่อการปรับปรุงให้เหมาะสมและหารายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องการเพิ่มเติมอีก ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้พนักงานสัมภาษณ์ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดี ต้องมีความเข้าใจในความหมายของข้อมูลที่ต้องการและต้องมีทักษะในการสร้างคำถามขึ้นมาสำหรับสัมภาษณ์บุคคลแต่ละคน

.
ข้อตกลงเบื้องต้นของการสัมภาษณ์รูปแบบนี้มี 3 อย่าง คือ

.
1. เชื่อว่าบุคคลแต่ละคนจะมีแนวทางของตนเองโดยเฉพาะในการให้ความหมายโลกทัศน์ของเขา ดังนั้น เพื่อที่จะเข้าใจความหมายอันนี้ นักวิจัยจะต้องใช้วิธีการศึกษาจากโลกทัศน์ของผู้ถูกสัมภาษณ์

.
2. เชื่อว่าการกำหนดลำดับขั้นตอนของปัญหาไว้แน่นอนแล้ว ไม่อาจจะสร้างความพอใจในการตอบปัญหาของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ทุกคน ดังนั้น เพื่อที่จะให้การสัมภาษณ์มีประสิทธิภาพได้มากที่สุด ควรเรียงลำดับขั้นตอนหัวข้อของการสัมภาษณ์โดยดูจากความพร้อมและความเต็มใจของผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย

.
3. การที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคนได้รับคำถามจากชุดของคำถามที่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนจะแสดงออกต่อรูปแบบของกลุ่มคำถามที่เหมือนกัน ข้อตกลงอันนี้มีความเหมือนกับการสัมภาษณ์ที่มีรายการมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ต่างกันแต่เพียงว่าการใช้คำถามและการเรียงลำดับของคำถามจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคน

.
3. การสัมภาษณ์ที่ไม่มีแบบมาตรฐาน (The Nonstandardized Interview or Unstructured Interview ; UI)

.
เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่ได้มีการกำหนดกลุ่มหรือชุดของคำถามและเรียงลำดับที่จะใช้สัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า ไม่มีรายการสัมภาษณ์เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ได้สอบถามปัญหาได้อย่างอิสระและกว้างขวาง ในการสร้างปัญหาและทดสอบสมมติฐานเฉพาะอย่าง ในระหว่างการสัมภาษณ์ได้ โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นและหลักความเป็นเหตุเป็นผลเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์ที่ใช้รายการแบบไม่มีโครงสร้าง คือ ใช้กลุ่มคำถามอันเดียวกันแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์เพียงแต่ไม่มีการสร้างรูปแบบและกรอบของการสัมภาษณ์ขึ้นมาเท่านั้นแบบสัมภาษณ์นี้อาจเรียกชื่ออีกอย่างได้ว่าการสัมภาษณ์ที่ไม่มีทิศทางแน่นอน (Nondirective Interview)
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการสัมภาษณ์อีก 2 แบบที่นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไป คือ

.
1. แนวการสัมภาษณ์ (Interview guide) เป็นการกำหนดหัวข้อขึ้นมาใช้ในการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างเพื่อเป็นแนวทางและสร้างความแน่นอนที่จะให้ครอบคลุมปัญหาที่สำคัญๆ ที่นักวิจัยต้องการ หัวข้อการสัมภาษณ์มีความแตกต่างจากตารางการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า ในหัวข้อการสัมภาษณ์ไม่มีการกำหนดคำถามไว้ตายตัวแต่จะมีหัวข้อกว้างๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและไม่เป็นทางการ ในการสัมภาษณ์ระหว่างผู้ถูกสัมภาษณ์กับนักสัมภาษณ์ซึ่งจัดได้ว่ามีลักษณะคล้ายหรือเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการสัมภาษณ์ประเภทที่ 3 ข้างต้น และ
.

2. การสัมภาษณ์เฉพาะเรื่อง (Focused interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่เน้นหนักเฉพาะเรื่องหรือ

เหตุการณ์ที่ต้องการข้อมูลจากผู้ถูกสัมภาษณ์ โดยทั่วๆ ไปนิยมใช้กับบุคคลที่มีหรือได้รับประสบการณ์ร่วมกัน เช่น การได้อ่านใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อที่เหมือนกัน ได้ดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน หรือมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันเป็นคำตอบที่ Merton และคณะนำมาใช้
.


การวางแผนวิธีการสำรวจ

.
การวางแผนการสำรวจแบบย้อนกลับเป็นการวางแผนที่ท้าทายนักวิจัยมากกว่าในความเป็นจริง การวางแผนควรจะเริ่มจากผลสุดท้ายที่ต้องการแล้วย้อนไปจนถึงจุดตั้งต้นทำให้ทราบว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้างและจะนำไปใช้อะไรได้บ้าง การวางแผนสามารถโยงไปถึงการวิเคราะห์และตารางวิเคราะห์ที่ตรงตามความต้องการ ชนิดของตัวแปรกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งการให้รหัสแก่ตัวแปรแต่ละตัว กลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมประชากรที่เกี่ยวข้องและรวมถึงพนักงานสัมภาษณ์และผู้นิเทศงานสนาม

.
ความสำคัญและขั้นตอนหลักของการวางแผน 2 ประเภทในวิธีการสำรวจสุ่มตัวอย่าง คือ

.
1. การวางแผนด้านวิชาการ ได้แก่ ขอบเขตของการสำรวจ เลือกแบบแผนการสำรวจรวมถึงเนื้อหาของการศึกษาทั้งหมด

2. การวางแผนขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อให้งานสำรวจบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

.
การเตรียมการวางแผน ขอบเขต แบบแผน และเนื้อหาของการศึกษา

.
1. ให้จุดประสงค์ที่จัดเจนของการศึกษา จุดสำคัญอย่างที่ควรพิจารณาในขณะเริ่มการศึกษาด้วยการสำรวจสุ่มตัวอย่าง

.
1.1 ปัญหาเบื้องต้นของการศึกษา ขั้นตอนในการวางแผนเพื่อการศึกษาจำเป็นต้องเริ่มด้วยการระบุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างชัดเจน บ่อยครั้งทีเดียวที่ปัญหาซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทำการศึกษาได้ถูกดัดแปลงไปหรือมีคำถามอื่นที่เข้ามาเพิ่ม ด้วยเหตุนี้เรื่องเวลาในการทำวิจัยจึงเข้ามามีส่วนในการวางแผนการศึกษา

.
1.2 ลักษณะทั่วไปของข้อมูลที่ต้องการ

.
1.3 คำถามเฉพาะบางอย่างซึ่งจะตอบโต้โดยวิธีการสำรวจสุ่มตัวอย่างเท่านั้น

.
ทั้งสามประการนี้เป็นขั้นตอนหลักของการกำหนดวัตถุประสงค์ของการสำรวจสุ่มตัวอย่างและจะต้องพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน

.
2. การตีความหมายแนวความคิดหรือคำต่างๆ

.
เมื่อกำหนดจุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเฉพาะของการสำรวจแล้วผู้ศึกษาจะพบว่ายังมีคำต่างๆ ที่จะต้องกำหนดความหมายคำนิยามอีกมาก คำเหล่านี้มักจะเป็นที่เข้าใจในความหมายทั่วๆ ไป แต่มักจะไม่ชัดเจนและไม่มีรายละเอียดพอสำหรับการวิจัย ในบางคำเป็นคำที่ใช้อยู่เสมอ เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา แต่ในทุกการสำรวจจะต้องให้นิยามของคำเหล่านี้ไว้ด้วย

.
3. คำนิยามที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริง มีความหมายในการเก็บข้อมูลและวัดได้ เช่น นิยามของคำว่าว่างงาน

.
4. การเลือกหัวข้อที่ต้องการเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้แนวทางว่าข้อมูลใดบ้างที่ควรเก็บรวบรวมมา

.
5. การเตรียมแผนแบบของการสำรวจ

.
เมื่อมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่ชัดเจนและมีเหตุผลสมควรและได้กำหนดแบบของข้อมูลที่ต้องการ ผู้วิจัยต้องมุ่งความสนใจไปยังแผนแบบของการศึกษา

.
แผนแบบของการศึกษาที่ดีจะได้มาจากวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการศึกษาหรือเป็นการประนีประนอมของวัตถุประสงค์ทั้งหมดกับข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น เวลา ค่าใช้จ่าย
สิ่งที่เน้นคือ ขบวนการในการวางแผนควรจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการและแผนแบบการทดลอง

แบบแผนการสำรวจ


วัตถุประสงค์ของการวิจัย


แผนแบบที่ใช้ในการสำรวจในแต่ละวัตถุประสงค์อาจจะเหมือนกันหรือต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูลที่ต้องการจากการสำรวจนั้นๆ


1. การค้นคว้าสำรวจ (Exporation)
2. การศึกษาแบบพรรณา (Description) จุดมุ่งหมายของการศึกษาแบบนี้ก็เพื่อให้ได้ผลการวัดที่เป็นบรรทัดฐานของปรากฏการณ์ที่ต้องการ เช่น ความนิยมต่อพรรคการเมือง การสำรวจค้นหากับการศึกษาแบบพรรณนาจะเหมือนกันมากในทางปฏิบัติ แตกต่างกันที่ความตั้งใจและการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ การวิจัยพรรณนาโดยสรุปจะสามารถนำไปสู่การวิจัยเพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้
3. การวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุ (Causal Explanation)
4. การทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis testing) เป็นจุดมุ่งหมายที่ใช้มากเพื่ออธิบายสาเหตุดังกล่าว สมมติฐานคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์ได้ด้วยข้อมูลที่รวบรวมมาได้ สมมติฐานส่วนมากจะตั้งใจในลักษณะของตัวแปรสองตัวหรือมากกว่าที่จะเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ข้อความของสมมติฐานจะมีคุณค่ามากในการวางแผนการวิจัยและการร่างแผนแบบของการสำรวจ ข้อดีคือจะเป็นกรอบบังคับให้นักวิจัยเข้าใจชัดเจนขึ้นถึงสิ่งที่ต้องการจะศึกษา
5. การประเมินผล (Evaluation) การสำรวจสุ่มตัวอย่างได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นหรือนำไปใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในการประเมินผลโครงการต่างๆ
6. การคาดการณ์หรือพยากรณ์เหตุการณ์ (Prediction) วัตถุประสงค์ทั่วไปของการวิจัยสำรวจแบบนี้ก็คือ การหาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต วิธีคาดการณ์ที่ใช้มากอีกวิธี คือ การสำรวจข้อมูลปัจจุบันแล้วพยากรณ์ข้อมูลเหล่านั้นสำหรับปีต่อๆ ไป









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น