วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

อนาคตของเคเบิลทีวีอยู่ที่ประโยชน์ที่ให้แก่ชุมชน





อนาคตของเคเบิลทีวีอยู่ที่ประโยชน์ที่ให้แก่ชุมชน

กิจการโทรทัศน์บอกรับเป็นสมาชิก หรือเคเบิลทีวี มีกำเนิดมานานแล้ว ถ้านับอายุเทียบกันฃบวัยของคนเรา อาจเรียกว่าเริ่มเข้าสู่วัยทองแล้วก็คงพอได้ แต่ในด้านการเจริญเติบโตของบริการด้านนี้ อาจกล่าวได้ว่า ยังเติบโตไปได้ไม่เท่าไร ถ้าจะเทียบการเจริญเติบโตกับร่างกายคนเราอีก ภาพที่ออกมาจะเป็นภาพของเฒ่าทารกหรือเปล่า ก็คงต้องขอให้สรุปกันเอาเอง

.
การจะทำความเข้าใจกับระบบเคเบิลทีวีนี้ คงต้องย้อนกลับไปดูถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดเคเบิลทีวีขึ้นมาก่อน ว่าเคเบิลทีวีเกิดจากอะไร หรืออะไรทำให้เกิดขึ้นมา

.
เคเบิลทีวีเกิดมาเพื่อบริการชุมชนให้รับสัญญาณได้ชัด

.
กว่าห้าสิบปีมาแล้ว ในปี 1948 สหรัฐอเมริกาหนึ่งในประเทศแรกๆที่มีโทรทัศน์และเป็นประเทศที่กว้างขวาง เคเบิลทีวีเป็นทางเลือกของชุมชนห่างไกลไม่สามารถรับทีวีได้ อย่างชัดเจน มีคุณภาพ ระบบเคเบิลในสมัยนั้น เริ่มที่มีผู้ลงทุนตั้งเสาอากาศรับคลื่นของชุมชนขนาดใหญ่ในจุดที่รับภาพได้ดี เช่นตามสันเขาเป็นต้น แล้วต่อสายเคเบิลจากสายอากาศนั้น เข้ามายังสถานีก่อนส่งไปยังครัวเรือนในชุมชน เรียกกันในสมัยนั้น ว่า CATV ที่ย่อมาจาก Community Antenna Television แปลว่าโทรทัศน์เสาอากาศชุมชน เคเบิลทีวีในยุคเริ่มแรกนี้ เป็นเพียงการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ปกติ แล้วป้อนเข้าครัวเรือนสมาชิกผ่านทางสายเคเบิล โดยช่องรายการพื้นฐานก็มีเพียงช่องสัญญาณแค่สามเน็ทเวิร์คใหญ่ คือ CBS ABC NBC และสถานีบริการสาธาธารณะหรือ PBS ด้วยเท่านั้น

.
จะเห็นว่ากำเนิดของเคเบิลนี้ เป็นการให้บริการชุมชนที่เป็นประโยชน์และที่สำคัญ เป็นที่ต้องการของชุมชน หรือภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่ามีอุปสงค์ หรือ ดีมานด์ (Demand)
.

จากระบบง่าย ๆ ที่ตั้งเสาอากาศสูง ๆ เพื่อดักรับสัญญาณ ของทีวีปกติ แล้วขยายความเข้ม ส่งให้ดูกันในหมู่เพื่อนบ้านในตอนแรก ผู้ดำเนินการได้เริ่มขยายตัวในเวลาต่อมา เป็นการเก็บค่าสมาชิกเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริการ

.
เนื่องจากการส่งสัญญาณทางสาย ตัดการกวนกันของคลื่นสัญญาณที่มีในระบบกระจายเสียงปกติ ผู้ประกอบการเคเบิลพบว่าผลพลอยได้ทางเทคโนโลยีทำให้ตนสามารถส่งสัญญาณได้เต็มที่ถึง 12 ช่องสัญญาณ เต็มหน้าปัดของเครื่องโดยไม่ต้องเว้น(1.2.3…13 แทนที่จะเป็น 1, 3, 5 …13) ช่องความถี่ที่สามารถนำมาใช้ได้นี้ ในที่สุดได้กลายเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตรายการออกอากาศเป็นของตัวเองได้
การเติบโตของระบบเคเบิลทีวี (CT) ในอเมริกา ในระยะแรกเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการฟรีทีวีตามปกติ ที่ส่วนใหญ่จะมอง เคเบิลทีวีว่าเป็นบริการเสริมที่ให้บริการอยู่แถวชายขอบของสัญญาณกระจายเสียงของตนเท่านั้น

.
เทคโนโลยีผลักดันการการเติบโตของเคเบิลทีวี

.
ในช่วงทศวรรษ 60 การเติบโตของระบบเคเบิลในสหรัฐเริ่มขยายตัวมากขึ้น เมื่อมีการรับช่วงสัญญาณจากสถานีที่อยู่ไกลเป็นร้อย ๆ ไมล์มาบริการในระบบเคเบิลชุมชน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในช่วงนี้ ก็เป็นเพียงการขยายตัวด้านระบบ แต่ในด้านรายการยังเป็นการลองผิดลองถูกเสียมากกว่า เช่นอาจมีรายการพยากรณ์อากาศของท้องถิ่น ข่าวชุมชน ข่าวบริการ เป็นต้น

.
ในช่วงทศวรรษ 70 มี การเติบโตของเคเบิลทีวีเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จุดกระแสโดย HBO ที่เน้นรายการภาพยนตร์ส่งรายการผ่านระบบไมโครเวฟไปยังสถานีเคเบิลไปต่างๆในย่านที่ไม่ไกลจากสถานีของตัวเองเกินไปนัก กิจการนี้ถือว่าพอไปได้ แต่ก็ไม่ได้ขยายตัวมากมายอะไร จนกระทั่งเกิดการชกมวยชิงแชมป์โลกคู่เขย่าศตวรรษระหว่าง อาลี-เฟรเชียร์ ที่ชก ณ กรุงมนิลาในปี 1975 ในครั้งนั้น HBO ตัดสินใจถ่ายทอดสดรายการนี้ผ่านดาวเทียมและกระจายออกไปยังสถานีเคเบิลของตน การทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จน HBO ตัดสินใจส่งรายการของตนทั้งหมดผ่านทางดาวเทียม (Satellite Delivered) ความสะดวกในการส่งรายการก็เกิดขึ้น

.
เทคโนโลยีพัฒนาตัวเองเร็วมาก จากความเทอะทะของจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร มาเป็น 4.5 เมตรและราคาถูกลงกว่า 10 เท่า ทำให้บริษัทเคเบิลเล็กๆก็สามารถรับรายการจากดาวเทียมได้สะดวก ในทางการตลาด การแข่งขันก็ทวีความรุนแรงและอาศัยความชาญฉลาดของผู้ประกอบการ บริษัท Turner Broadcasting ของ เท็ด เทอร์เนอร์ เห็นความสำเร็จของ HBO และก็เห็นโอกาสของตัวเอง ก็ในเมื่อสถานีเคเบิลต่างๆบอกรับ HBO อยู่แล้ว การนำรายการของตัวเองขึ้นดาวเทียมดวงเดียวกันกับ HBO จึงไม่ใช่เรื่องยาก และทำให้เขาสามารถขายรายการพ่วงให้กับลูกค้าของ HBO ได้อย่างง่ายดาย รายการของเท็ด เทอร์เน่อร์ถึงไม่ได้ดีมาก แต่ก็ราคาถูกและผู้ซื้อก็รู้สึกว่าสามารถเพิ่มบริการให้แก่สมาชิกทำให้เพิ่มจำนวนสมาชิกได้มาก ในขณะที่สมาชิกเองก็ชอบ เพราะมีรายการทางเลือกให้เพิ่มขึ้นอีก มองได้ว่าเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

.
ความสำเร็จของ HBO เท็ด เทอร์เนอร์ ทำให้เกิดการขยายตัวด้านรายการอย่างรวดเร็ว เกิดรายการบันเทิงและอื่นๆมากมาย เช่น Showtime, Cinemax เน้นภาพยนตร์ MTV เสนอมิวสิควีดีโอ ESPN เสนอและถ่ายทอดรายการกีฬา CNN บริการข่าวยี่สิบสี่ชั่วโมง USA เน้นรายการวาไรตี้ CBN เผยแพร่ศาสนาคริสต์ CHN ช่องเพื่อสุขภาพ ARTS เสนอศิลปะ วัฒนธรรม Nickelodeon รายการเด็ก Daytimes ช่อรายการผู้หญิง C-SPAN การเมืองและสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น รายการที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังมีรายการอื่นๆอีกมากมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเลือกชมได้อย่างตรงใจและจุใจ

.
ความสำเร็จของรายการดีๆที่หลากหลายและถูกใจผู้ชม นำไปสู่จำนวนครัวเรือนที่บอกรับเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ในที่สุด เมือจำนวนครัวเรือนที่บอกรับเป็นสมาชิกเคเบิลเพิ่มสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนในอเมริกา บริษัทโฆษณาก็เริ่มสั่งซื้อเวลาในเคเบิล ผลก็คือผู้ผลิตและผู้ประกอบการมีรายได้สนับสนุนการผลิต เกิดการพัฒนาคุณภาพ ช่วยชลอราคาค่าบอกรับสมาชิก และยังเกิดช่องรายการใหม่ๆเพิ่มขึ้น
[1]
เคเบิลทีวีในประเทศไทย

.
ในประเทศไทย โทรทัศน์ที่เรียกกันว่าเคเบิลนั้น ได้เริ่มดำเนินการแบบชาวบ้านเช่นกัน และเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาสัญญาณไม่ชัดเช่นเดียวกันอีก ผู้ดำเนินการเคเบิลรายแรกเป็นใครนั้นไม่ทราบแน่นอน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับและชาวบ้านทำกันเอง แต่ที่มีหลักฐานแน่นอนก็คือรายที่จันทบุรีในปี 2523 โดยคุณฉลาด วรฉัตร นักการเมืองชื่อดัง โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาการรับสัญญาณฟรีทีวีหรือทีวีปกติไม่ชัด และต่อมาก็ขยายตัวโดยการแพร่ภาพภาพยนตร์จากวีดีโอไปตามสาย ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดในสหรัฐอเมริกา และในช่วงเวลาเหลื่อมกันนั้นเอง ก็ทราบว่ามีผู้ประกอบการอีกหลายรายในชุมชนที่ไม่สามารถรับสัญญานโทรทัศน์ได้ชัด เช่นในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย โคราช นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน และต่อมาผู้ประกอบการสมัครเล่นเหล่านี้ก็มีแถมช่องภาพยนตร์จากวีดีโอ ด้วย

.
เนื่องจากในยุคนั้น ยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องเคเบิลโดยเฉพาะ การขยายตัวและการควบคุมจึงเป็นไปได้ยาก จะถือว่าประชาชนมีความต้องการ แต่รัฐไม่สามารถสนองได้ กลับปล่อยให้ชาวบ้านทำไปตามยถากรรม ทั้งที่เห็นชัดถึงความต้องการ ความจำเป็น และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ อีกทั้งก็ปรากฏผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการที่มีตัวตน ผู้ประกอบการในยุคนั้นจึงถูกกล่าวหาว่าเถื่อนหรือว่าทำผิดกฎหมายไปโดยปริยาย ทั้งที่ไม่มีกฎหมายที่จะบอกว่าทำอย่างไรถึงถูก ในอีกมุมมองจะถือว่ารัฐและหน่วยงานของรัฐละเลยความต้องการของสังคมก็ได้ เพราะเพิกเฉยต่อหน้าที่ ทั้งๆที่บริการชนิดนี้มีมาแล้วหลายสิบปี ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 ทั้งในสหรัฐและในยุโรป

.
กิจการเคเบิลทีวีในประเทศไทยที่ถือว่าเป็นทางการจริงๆนั้น ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดย IBC (International Broadcasting Corporation) เป็นผู้ให้บริการ มีการแพร่ภาพโดยใช้ระบบ MMDS (Multipoint Multichannel Distribution System) ซึ่งต่อมามีผู้ประกอบการหลักๆในกรุงเทพอยู่สามรายด้วยกัน คือ IBC UTV และ Sky TV
การเติบโตของระบบเคเบิลในประเทศไทยนั้น เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ ล้มลุกคลุกคลาน เริ่มจากหน่วยงานที่ให้อนุญาตที่แตกต่างกัน คือ กรมประชาสัมพันธ์ (Sky TV) และ อสมท. (IBC และ UTV) อีกทั้ง ระบบการส่งสัญญาณก็มีความแตกต่างกัน คือมีทั้งการแพร่ภาพทางอากาศ (IBC และ Sky TV) และทางสายเคเบิลใยแก้ว (UTV) ผลเสียที่เห็นคือการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน และขาดการศึกษาถึงความเหมาะสมด้านราคา ความต้องการ และเนื้อหารายการที่ควรเป็น ผลที่ตามมาก็คือการขาดทุน ในที่สุด Sky TV ต้องเลิกกิจการพร้อมหนี้สินจำนวนมาก ขณะที่ IBC ต้องควบกิจการกับ UTV จนกลายเป็น UBC อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เนื่องจากความจำเป็นในการอยู่รอดทางธุรกิจ

.
การเติบโตของเคเบิลทีวีในอนาคต

.
หากสิ่งที่เกิดในประเทศอื่นที่มีพัฒนาการทางเคเบิลมาก่อนหน้าเราบอกอะไรได้บ้างแล้ว มั่นใจได้ว่าเคเบิลทีวีมีอนาคตสดใสรออยู่ข้างหน้าแน่นอน ประเทศใหญ่ๆเช่นในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรปต่างก็มีระบบเคเบิลทีวีที่ก้าวหน้าเติบโต จากระบบเคเบิลเล็กๆที่ช่วยแก้ปัญหาการรับสัญญานโทรทัศน์ระบบธรรมดาไม่ชัด วันนี้เคเบิลทีวีได้กลายเป็นระบบเปย์ทีวีที่มีช่องรายการและประเภทรายการให้เลือกมากมาย จากธุรกิจเล็กๆ ปัจจุบันระบบเคเบิลในอเมริกาเข้าถึงครัวเรือนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นธุรกิจใหญ่โตที่มีมูลค่าตลาดมหาศาล

.
สิ่งที่กล่าวข้างต้น อาจมองได้ว่าไม่น่าจะเป็นจริงไปได้สำหรับประเทศไทย เพราะทุกวันนี้ ระบบเคเบิลของไทยยังประสบกับการขาดทุนทางธุรกิจอยู่ อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมมองทางเทคโนโลยี จะเห็นว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้ก้าวหน้าไปมาก และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบเคเบิลในไทย การขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากปัญหาทางด้านกฎหมายและการจัดการมากกว่า ซึ่งในต่างประเทศ ระบบเคเบิลที่ขาดทุนหรือเลิกล้มกิจการไปก็มีเช่นกัน แต่โดยภาพรวมแล้ว ต้องถือว่ามีความก้าวหน้าไปมาก

.
ในส่วนของผู้ประกอบการเคเบิลในระดับท้องถิ่น จะพบว่ามีลักษณะการประกอบการและมีขนาดของธุรกิจแตกต่างกันมากระหว่างผู้ประกอบการรายต่างๆที่มีอยู่กว่า 70 รายทั่วประเทศ ผู้ประกอบการบางรายที่มีฐานตลาดขนาดเล็กหรือตลาดมีกำลังซื้อต่ำ ก็อาจมีปัญหาเรื่องความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจที่จะให้บริการในตลาดนั้น แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการลงทุนและการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ที่ต้องพิจารณาดูว่าความเหมาะสมอยู่ที่ใด

.
สำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ในตลาดที่มีขนาดและมีกำลังซื้อเพียงพอ ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจคือการบริหารจัดการที่เหมาะสม และการกำหนดนโยบายการบริการที่ดี ซึ่งถ้าถามว่าอะไรคือนโยบายการบริการที่ดี คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเคเบิลทีวีจึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และชุมชนที่ตนเป็นสมาชิกอยู่

.
การปฏิรูปสื่อโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 40

.
ก่อนที่จะกล่าวถึงการวางนโยบายการให้บริการเคเบิลทีวีไปมากกว่านี้ ใคร่กล่าวถึงปัจจัยทางด้านกฎหมายและนโยบายสาธารณะที่มีผลต่ออนาคตของเคเบิลทีวีในประเทศเป็นอย่างมาก
ในแวดวงของผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยุและโทรทัศน์ ทุกท่านทราบดีว่ามาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรความถี่วิทยุของประเทศ และทราบกันดีว่ามีผลกระทบต่ออนาคตของวิทยุโทรทัศน์ไทยอย่างมหาศาล

.
มาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2540 มีรายละเอียดที่ขอยกมาทั้งมาตราดังนี้

.
“คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

.
ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

.
การดำเนินการตามวรรคสอง ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม”

.
จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 40 มองว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติและมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และยังได้กำหนดวิธีการบริหารจัดการไว้ด้วยว่า ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยให้การดำเนินงานขององค์กรอิสระที่จะจัดตั้งขึ้นต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ
กรรมการอิสระ กสช. จะดูแลด้าน เคเบิลทีวีด้วย

.
ในขั้นกฎหมายลูก พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่จัดทำขึ้นตามอำนาจที่ให้ไว้ในมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้องค์กรอิสระที่มาทำหน้าที่กำกับดูแลด้านวิทยุและทีวีคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช.

.
อำนาจหน้าที่ของ กสช. ในการกำกับดูแลเคเบิล ทีวี อยู่ที่ มาตรา 3 ของพระราชบัญญัติที่นิยามว่า “กิจการโทรทัศน์” หมายความว่า กิจการซึ่งให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมการให้บริการนั้นๆได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบสาย ระบบคลื่นความถี่ ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นหรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการโทรทัศน์ตามที่มีกฎหมายบัญญัติหรือตามที่คณะกรรมการร่วม
[2] กำหนดให้เป็นกิจการโทรทัศน์

.
ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนั้น พระราชบัญญัติองค์กรฯ ได้บัญญัติไว้แต่เพียงกว้าง ๆ ดังจะกล่าวในตอนต่อไป

.

.
ประเภทผู้ประกอบการทีวี: ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

.
การแบ่งผู้ประกอบการไว้ทั้งสามประเภทข้างต้น พระราชบัญญัติองค์กรฯ ได้ให้อำนาจ กสช. ไว้ค่อนข้างมากและกว้างขวาง ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะในส่วนที่เห็นว่าเกี่ยวข้อง

.
การให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์นั้น ( มาตรา 26 ) กสช.จะต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงถูกครอบครองโดยรัฐ หรือองค์กรของรัฐ ส่วนโทรทัศน์นั้นก็ไม่แตกต่างกัน เอกชนที่ต้องการคลื่น ต้องไปขอใช้จากผู้ครอบครองเดิมโดยการทำสัญญา ยกเว้นไอทีวีที่เกิดขึ้นภายหลังจากกรณี 17 พฤษภาคม เท่านั้น ที่ได้รับคลื่นไปดำเนินการโดยตรงในฐานะของผู้ประกอบการเอกชน

.
มาตรา 26 ของ พรบ.องค์กรฯในส่วนที่ว่าด้วยการจัดทำแผนแม่บท และการอนุญาตให้ประกอบกิจการนี้ ระบุ กว้างๆไว้เพียงว่า กสช. จะต้องกำหนดให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้ามาประกอบกิจการ โดยมีสัดส่วนที่เหมาะสม การที่กฎหมายระบุกว้างๆแค่นี้ จึงเท่ากับว่าให้อำนาจ กสช. ในการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมเอาเอง มีเพียงภาคประชาชนหรือชุมชนเท่านั้น ที่เขียนชัดว่าจะต้องได้รับจัดสรรให้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ

.
อนาคตฟรีทีวีจะแบ่งตามวัตถุประสงค์: สาธารณะ ชุมชน และธุรกิจ

.
ในส่วนของรายการที่ กสช. มีหน้าที่กำกับด้วยนั้น ถ้าดูตามร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการ ร่างที่ผ่านมาได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ให้การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ
.

การประกอบกิจการบริการสาธารณะ
.

การประกอบกิจการบริการชุมชน
.

การประกอบกิจการทางธุรกิจ
.

ในเรื่องของวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการนี้ นักคิดนักเขียนบางท่าน แยกกิจการบริการสาธารณะออกจากบริการชุมชน บ้างก็ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ในเรื่องนี้ ร่าง พรบ. ประกอบกิจการฯ ข้างต้น เขียนไว้ชัดเจนว่า

.
“ การประกอบกิจการบริการสาธารณะ ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา สุขภาพ อนามัย กีฬา ความมั่นคงของรัฐ การประกอบอาชีพเผยแพร่ข่าวสาร ประโยชน์ท้องถิ่น หรือประโยชน์สาธารณะอื่นใด…..”(มาตรา 9 พรบ. ประกอบกิจการฯ )

.
ส่วนลักษณะของการประกอบกิจการบริการชุมชนนั้น ร่าง พรบ. ข้างต้นเขียนว่า

.
“ การประกอบกิจการบริการชุมชนต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ แต่ต้องเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนที่รับบริการ และการบริหารกิจการกระทำโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกของชุมชนนั้น ……….. ( มาตรา 10 พรบ. ประกอบกิจการฯ) “

.
หากดูตามมาตราทั้งสองข้างต้น จะเห็นว่าวิทยุโทรทัศน์ชุมชนและบริการสาธารณะนั้น จะว่าเหมือนกันก็ได้ เพียงแต่กิจการชุมชนเน้นตามความต้องการของชุมชน และต้องบริหารโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกของชุมชน แต่ก็แน่นอนว่ากำลังของเครื่องส่งคงไม่มาก ส่วนคำว่าชุมชนนั้น จะนิยามหรือกำหนดอย่างไร ขนาดไหน และที่เป็นชุมชนซ้อนชุมชนอยู่นั้นเล่า ก็คงต้องไปว่ากันอีกทีในภายหลังโดย กสช.
กสช. ต้องส่งเสริมฟรีทีวีระดับท้องถิ่นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

.
หน้าที่หนึ่งที่ กสช. จะต้องกระทำให้ลุล่วงไปตามภาระกิจที่กำหนดไว้ใน พรบ. องค์กรฯ คือหน้าที่ๆจะต้องทำให้เกิด โทรทัศน์ท้องถิ่นควบคู่ไปกับโทรทัศน์ระดับชาติ ดังมาตรา 25 และ 26 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่เขียนว่า

.
มาตรา 25

.
การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น
[3] รวมทั้งการแข่งขันโดนเสรีอย่างเป็นธรรม และต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่งถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

.
มาตรา 26 (วรรค 2 และ 3)

.
“…ในการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าว เพื่อประโยชน์สาธารณะระดับท้องถิ่นอย่างน้อยจะต้องให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัดและสถานีวิทยุโทรทัศน์สำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

.
ให้ กสช. สนับสนุนให้ตัวแทนประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ ในจังหวัดมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอแนะความเห็นแก่ กสช. ในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กสช.

.
การจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าว ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยจะต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ในกรณีที่ภาคเอกชนยังไม่มีความพร้อม ให้ กสช. ให้การสนับสนุน เพื่อให้ภาคประชาชนมีโอกาสใช้คลื่นความถี่ในสัดส่วนตามที่กำหนด

.
เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้และการสนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ของภาคประชาชน ให้ กสช. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของภาคประชาชนที่พึงได้รับการจัดสรรและสนับสนุนให้ใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งลักษณะการใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับจัดสรรโดยอย่างน้อยภาคประชาชนนั้นต้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ

.
ฟรีทีวีเพื่อบริการด้านชุมชนและการศึกษา…ไม่ง่าย

.
หากดูตามสิ่งที่ กสช. ต้องทำนั้น จะเห็นว่าในส่วนของโทรทัศน์ภาคธุรกิจนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาด้านการบริหารนโยบายให้เกิดมีขึ้น เพราะผู้ลงทุนย่อมจะตัดสินใจและรับภาระความเสี่ยงเอาเอง รวมทั้งปัจจุบัน ก็มีผู้ที่มีทั้งทุนและมีทั้งความสนใจปรากฏให้เห็นอยู่

.
ในส่วนของวิทยุโทรทัศน์ภาครัฐ ทางออกของการเป็นสถานีบริการสาธารณะประโยชน์ ก็ดูจะเป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่แต่เดิมอยู่รองรับอยู่แล้ว

.
ในส่วนของ โทรทัศน์ จึงน่าจะมีปัญหาและมีความยากลำบากอยู่บ้าง เพราะ กสช. จะต้องเริ่มจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ก่อน และ กสช. ต้องส่งเสริมให้มีขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีใครสนใจมาทำหรือไม่ ตรงนี้ อาจเปิดโอกาสให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นได้มีโอกาสร่วมสานนโยบายของ กสช.

.
ในต่างประเทศ ประวัติของการดำเนินสถานีวิทยุศึกษาและโทรทัศน์การศึกษาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากสถานีเหล่านี้ไม่มีรายได้เหมือนสถานีด้านธุรกิจ อย่างไรก็ตามศักยภาพของโทรทัศน์ในยุคแรกเริ่มได้จุดประกายให้แก่นักการศึกษาเป็นอย่างมาก ดังที่เขียนไว้ในตำราด้าน วิทยุโทรทัศน์การศึกษาในยุคแรกเริ่มของทีวีดังนี้

.
Television in school, College, and Community is written to put on record that educational television is a flourishing form of entertaining teaching. It shows how audio-visual specialists in the elementary grades, junior and senior high schools, radio-TV directors in institutions of higher learning, and a wide variety of community groups are carrying out the responsibility of educating people of all ages by the swiftest and most intriguing means in our electronic world
[4]

.
แต่ในการปฏิบัติจริง โทรทัศน์ก็เป็นได้เพียงส่วนเสริมของระบบการศึกษาเท่านั้น และการดำเนินกิจการโทรทัศน์การศึกษานั้น ถึงไม่ล้มเหลวเสียทีเดียวแต่กล่าวได้ว่าล้มลุกคลุกคลานมาตลอด โทรทัศน์การศึกษาอาศัยดำเนินการอยู่กับมหาวิทยาลัย รับเงินอุดหนุนการจัดตั้งจากรัฐบาล รับเงินกองทุนและเงินจากมูลนิธิต่างๆช่วยในการผลิตรายการ รูปแบบของการจัดโทรทัศน์การศึกษาอย่างเป็นทางการของอเมริกัน คือการจัดตั้งหน่วยงาน Adult Learning Service (ALS) ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สถานีบริการสาธารณะและมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยกว่า 1000 แห่ง แต่ก็มีความสำเร็จเพียงจำกัดเท่านั้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่การศึกษาผ่านระบบอินเทอร์เน็ทและมัลติมีเดีย เข้ามารองรับความต้องการด้านการศึกษาได้ดีกว่า
คู่แฝดของโทรทัศน์การศึกษาในอเมริกาคือโทรทัศน์บริการสาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า Public Service Broadcasting
[5] สถานีเหล่านี้เป็นสถานีที่ไม่แสวงหากำไร รายการที่นำเสนอมักเป็นรายการด้านศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา หลายแห่งเป็นสถานีของมหาวิทยาลัยและทำหน้าที่เป็นโทรทัศน์เพื่อการศึกษาด้วยดังกล่าวแล้วข้างต้น

.
ในยุครุ่งเรือง สถานีบริการโทรทัศน์สาธารณะเหล่านี้จัดว่าพออยู่ได้ เพราะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐและเงินบริจาค แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น การแข่งขันจากสื่ออื่นๆและจากเปย์ทีวีเริ่มเข้ามาเบียด ทำให้สถานีเหล่านี้ประสบปัญหา และเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เกิดการตัดงบประมาณ สถานีบริการสาธารณะเหล่านี้ก็จำต้องปรับตัว เช่น มีการนำของบริจาคมาประมูล ทำของชำร่วยขาย ขายลิขสิทธิ์รายการ เป็นต้น และที่สุดก็เริ่มรับโฆษณา

.
ในส่วนของโทรทัศน์ชุมชน ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน การเกิดของสถานีโทรทัศน์ชุมชนดูเหมือนว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
[6] เนื่องจากในยุคของประธานาธิบดีนิกซ์สันรายการของ PBS จำนวนมากเกี่ยวข้องกับการเมือง และเป็นการเมืองที่ไม่เป็นคุณกับรัฐบาล แรงบีบจึงเกิดขึ้นเพื่อให้สถานีบริการสาธารณะเน้นรายการท้องถิ่น ในหลายที่สถานีบริการสาธารณะเช่นสถานี PBS จึงทำหน้าที่ในด้านเป็นสถานีชุมชนด้วย เพราะโดยตัวเองแล้ว ก็มีกำลังส่งไม่มากอยู่แล้ว

.
ในประเทศอื่นๆเช่น อังกฤษและญี่ปุ่น สถานี BBC และ NHK ตามลำดับ ได้รับรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากเครื่องรับ สถานการณ์จึงดูว่าดีกว่าอเมริกันอยู่บ้าง และเป็นแรงบันดาลใจของนักวิชาการไทยหลายท่าน แต่ถึงกระนั้น ความนิยมที่ผู้ชมมีต่อโทรทัศน์เชิงพานิชย์ก็ดูเหมือนจะบดบังรัศมีสถานีทั้งสองมากขึ้นทุกที จนทั้งคู่ต้องปรับตัวไปในทิศทางที่สังคมอยากได้มากขึ้น

.
ณ จุดนี้ อาจกล่าวได้ว่างานโทรทัศน์ด้านการศึกษา บริการสาธารณะ และชุมชน ถ้าจะจัดตั้งเป็นสถานีออกอากาศเฉพาะทาง คงไม่ใช่งานง่ายๆแน่

.
ภาพของฟรีทีวีเพื่อการศึกษาและชุมชนยังไม่ชัดเจน

.
สำหรับในประเทศไทย โทรทัศน์เพื่อการศึกษาและเพื่อชุมชนยังไม่มีอย่างแท้จริง ส่วนในอนาคตจะเป็นไปในทำนองใดนั้น ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ หากดูตามกฎหมายที่ออกมาแล้ว พูดได้เพียงว่ากฎหมายระบุไว้ว่าจะต้องมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชนและสาธารณะประโยชน์ แต่จะทำอย่างไรนั้นกฎหมายไม่ได้บอกไว้ คงปล่อยให้ กสช. ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตมาวางแนวทางต่อจากกฎหมายอีกที แนวทางที่จะทำนั้น ก็คงมาจากการปรึกษากันของคณะกรรมการ กสช. ทั้งชุด ซึ่ง กสช. มีอยู่ทั้งคณะ 7 คน จะเป็นใครบ้างในวันนี้ยังไม่รู้ ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถพูดได้อย่างแน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หากกรณีวิทยุศึกษาของไทย พอจะบอกใบ้อะไรได้บ้างแล้ว การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ความขาดแคลนของสถานีวิทยุศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
[7] น่าจะบอกว่าอนาคตคงไม่ใช่โรยด้วยดอกกุหลาบอย่างแน่นอน และเงินกองทุนที่จะนำมาใช้เพื่อการนี้ คงต้องจัดให้มีลำดับความสำคัญสูง และต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

.
จุดแข็งของเคเบิลทีวีคือความใกล้ชิดชุมชน

.
มองไกลไปในอนาคต เคเบิลทีวีต่างจังหวัด จะต้องอยู่ร่วมกับฟรีทีวีและเคเบิลทีวีระดับชาติไปอีกนาน การแข่งขันระหว่างบริการทีวีต่างระบบ รวมถึงในบางจุดที่เคเบิลท้องถิ่นต้องแข่งขันกันเองด้วย ทำให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่จะมีมาในอนาคต ซึ่งนั่นหมายถึงการแสวงหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งมีประเด็นที่ใคร่แนะนำให้พิจารณาเป็นตัวอย่างได้ดังนี้

.
ใกล้ชิด สนองความต้องการได้ดี

.
ในการกำหนดกลยุทธ์ที่จะอำนวยให้หน่วยงานสามารถอยู่รอดและรุ่งเรืองต่อไปได้นั้น วิธีการหนึ่งคือการหาจุดแข็งเฉพาะตัว (Unique Advantage) ซึ่งในกรณีของเคเบิลท้องถิ่นนี้ จุดแข็งประการหนึ่ง คือความใกล้ชิดกับชุมชนที่ให้บริการ การเป็นสมาชิกชุมชน ที่อยู่ใกล้ชิดผู้บอกรับเป็นสมาชิก เคเบิลจึงรู้วัฒนธรรมถิ่น และความต้องการของท้องถิ่นชุมชนที่ตนให้บริการอยู่ นี่เป็นข้อดีที่ผู้ให้บริการจากภายนอกไม่สามารถเอาชนะได้ และสอดคล้องกับแนวนโยบายด้านโทรทัศน์ชุมชนของ กสช.

.
รวดเร็วและคล่องตัว

.
ความใกล้ชิดกับชุมชนนี้ ไม่ใช่แค่ความใกล้ชิดในด้านความรู้สึกและจิตใจ ความใกล้นี้ยังหมายถึงความใกล้ในทางกายภาพด้วย การนำเสนอข่าวคราวและเรื่องราวของท้องถิ่นสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว ซึ่งข้อได้เปรียบนี้ แสดงให้เห็นมาแล้วในเรื่องของข่าวท้องถิ่นที่เป็นจุดเด่นของเคเบิลทีวีหลายแห่งในปัจจุบัน

.
ประโยชน์ด้านต้นทุน

.
นอกจากข่าวแล้ว การพัฒนารายการ และการนำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่นอื่นๆ จะได้ประโยชน์จากความรวดเร็วและความลึกในการนำเสนอ ทั้งยังมีผลอย่างมากต่อต้นทุนการผลิต เพราะระยะทางและแรงงานท้องถิ่น ย่อมถูกกว่าการผลิตจากระยะไกล จึงเป็นประโยชน์ต่อเคเบิลท้องถิ่นและผู้ประกอบการจากภายนอกยากที่จะแข่งขันด้วยได้ ดังนั้น จุดแข็งเฉพาะตัว (Unique advantage) ของเคเบิลท้องถิ่น คือการผนึกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั่นเอง

.
การหาจุดแข็งเฉพาะตัว เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองนี้ มิใช่มีเพียงมุมมองที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นอย่างเดียว ผู้ประกอบการแต่ละราย อาจมีจุดแข็งเฉพาะตัวอีกหลายประการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่บริการแต่ละแห่ง และความสามารถในการวิเคราะห์ของผู้ประกอบการ ที่จะต้องค้นหาให้เป็นประโยชน์

.
แนวทางการพัฒนาการกระจายเสียงในระบบเคเบิล

.
นอกจากการวิเคราะห์หาจุดแข็งเฉพาะตัวแล้ว เคเบิลทีวียังต้องเตรียมความพร้อม สำหรับการพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต การพัฒนาตัวเองนี้ นอกจากต้องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและองค์กรกำกับดูแลแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการด้านเคเบิลต้องคำนึงถึงตลอดเวลา คือประโยชน์ที่เคเบิลสามารถสร้างให้แก่สังคม ซึ่งในเรื่องประโยชน์นี้ สามารถพิจารณากว้างๆได้ดังนี้

.
1. เคเบิลสามารถให้บริการด้านการศึกษาได้ ดังได้กล่าวแล้วว่าการจัดตั้งสถานีแพร่ภาพออกอากาศเพื่อบริการด้านการศึกษาโดยเฉพาะนั้น เป็นเรื่องยาก และ กสช. หรือรัฐจะต้องลงทุนสูงมากหากต้องการให้เกิดขึ้น เคเบิลสามารถเข้ามารับใช้สังคมทางด้านนี้ได้เป็นอย่างดี การเปิดช่องเสริมเพื่อการศึกษาถือได้ว่าเป็นการขยายโอกาส ส่วนต้นทุนค่าใช้จ่ายนั้น เคเบิลท้องถิ่นอาจได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ หรือขอสนับสนุนจากกองทุนของ กสช. ส่วนเนื้อหารายการนั้น อาจร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม ภาคประชาชนด้วยก็ได้ หากทำได้ดังนี้ ประโยชน์ในด้านการศึกษาก็จะเกิด

.
2. ในเรื่องของโทรทัศน์ชุมชน เคเบิลเองก็สามารถเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ได้ การจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่เพื่อแพร่ภาพ โดยมีพร้อมทั้งอาคารสถานที่ห้องส่งและเครื่องส่งนั้นใช้เงินมหาศาล การจะให้มีบุคลากรดำเนินกิจการของสถานีก็ต้องใช้เงินจำนวนมากเช่นกัน หาก กสช. หรือรัฐบาลต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์ชุมชนจำนวนมาก การใช้งบประมาณส่งเสริมหรือรอให้มีผู้มาลงทุนทำสถานีคงเป็นไปได้ยาก เคเบิลจึงน่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งได้

.
ข้อดีของระบบโทรทัศน์ชุมชนผ่านทางเคเบิลนี้ จะถือเป็นการเริ่มต้น หรือทดลองการจัดรายการชุมชนก็ได้ โดยเริ่มแรกเจ้าของช่องอาจเป็นนิติบุคคลชุมชนที่ขอเช่าช่องออกอากาศ หรือผู้ประกอบการเคเบิลอาจทำเอง โดยรายการอาจเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ครอบครัว การอาชีพ มาตราฐานความเป็นอยู่ของชุมชน เป็นต้น ต่อเมื่อมีความพร้อม จะขยายตัวเปิดโอกาสให้นิติบุคคลชุมชนเป็นเจ้าของเพื่อเปิดเป็นสถานีแพร่ภาพออกอากาศชุมชนเต็มรูปก็ได้ หรือถ้าคิดว่าเหมาะสม อาจคงโทรทัศน์ชุมชนไว้ในระบบเคเบิลก็ได้ ในส่วนของผู้ประกอบการเคเบิลเอง การจัดให้มีช่องชุมชนจะทำให้ระบบเคเบิลเป็นทางเลือกที่น่าบอกรับสำหรับผู้ชมท้องถิ่น และอาจมีโอกาสได้รับเงินอุดหนุนในรูปของการซื้อเวลาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง (Public Access) ถ้ารัฐเห็นเหมาะสม และเมื่อนั้น รายการที่มีผลได้เสียโดยตรงกับท้องถิ่นเช่น ศาสนา วัฒนธรรม หรือการปกครองท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์จากบริการโทรทัศน์ระบบเคเบิลได้เป็นอย่างดี โดยที่เคเบิลทีวีสามารถได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนได้ แนวทางนี้ถือได้ว่าเป็นการยังประโยชน์ด้านสังคมให้แก่ชุมชน

.
3. เคเบิลทีวีควรพัฒนาช่องบริการธุรกิจท้องถิ่นขึ้น การขยายการบริการด้านธุรกิจและการพานิชย์ให้กับธุรกิจท้องถิ่น ถือเป็นการสร้างประโยชน์อย่างหนึ่งให้แก่ชุมชน เป็นการให้ความสะดวกแก่ระบบการค้าและช่วยให้ธุรกิจท้องถิ่นบริการประชาชนได้ดีขึ้น ประชาชนเข้าถึงข่าวสารด้านการค้า เกิดความสะดวกในการหาบริการที่สนองความต้องการของตนเองให้ดีที่สุด

.
หากมองจากมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ นี่เป็นการผนึกตัวเองเข้ากับระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นการสนับสนุนการค้าในท้องถิ่นให้อยู่ได้ การค้าในท้องถิ่นจะทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนอยู่ในชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างผลผลิตในท้องถิ่น แทนที่จะปล่อยให้เงินทุนหมุนเวียนของชุมชนถูกดูดออกจากระบบไปสู่เศรษฐกิจภายนอกชุมชน ในส่วนนี้ ยังเป็นช่องทางที่เคเบิลจะมีรายได้เข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนด้านเศรษฐกิจและพานิชยกรรม

.
4. สร้างประโยชน์โดยการสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตรายการอิสระ การแพร่ภาพโทรทัศน์เป็นกิจกรรมที่ต้องดำเนินต่อเนื่องกันไป จะทำๆหยุดๆไม่ได้ ดังนั้น การหารายการคุณภาพมาเติมให้เต็มตามเวลาเป็นหน้าที่หนึ่งที่จะต้องดูแลอย่างดี การเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรายการ โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ผลิตรายการสมัครเล่นและผู้ผลิตรายการระดับท้องถิ่น จึงเป็นการสร้างเครือข่ายโยงใยที่ดี ในฐานะพันธมิตร เคเบิลจะเป็นช่องทางหนึ่งให้ผู้ผลิตได้เผยแพร่รายการ เปิดโอกาสให้ผลิตรายการใหม่ๆ ทดลองรายการ รวมถึงการฝึกอบรมการผลิต
ในเรื่องการฝึกอบรมการผลิตนี้ เคเบิลสามารถเป็นแกนในการสร้างหรือร่วมกับสถาบันการศึกษาเช่นสถาบันราชภัฏ หรือร่วมกับผู้ผลิตรายการ ในการสร้างบุคลากรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศ นักแสดง และผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตต่างๆ หากทำได้ดี เคเบิลทีวีจะสามารถมีรายการที่หลากหลายบริการผู้ชม และสามารถยกระดับมาตราฐานและคุณภาพรายการได้ อันจะเป็นประโยชน์โดยรวมกับสังคม

.
5. การเข้าร่วมทุนหรือลงทุนกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ภูมิภาคหรือร่วมเป็นพันธมิตร น่าจะเป็นแนวทางที่ดีอีกแนวหนึ่ง ถึงแม้ในปัจจุบัน โครงสร้างความเป็นเจ้าของยังไม่อำนวยให้เกิดความสัมพันธ์มากเกินกว่าความร่วมมือ แต่ต่อไป น่าจะมีสถานีโทรทัศน์ภูมิภาคมากขึ้น ระดับการร่วมมืออาจมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น
ในฐานะของผู้ให้บริการโทรทัศน์ภูมิภาค และโทรทัศน์ท้องถิ่น การร่วมมือในการผลิตรายการ หรือประสานงานทำรายการเช่นรายการข่าว จะช่วยให้เกิดการประหยัดและคุณภาพรายการมีความแข็งแกร่งขึ้น ผู้รับก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้น

.
การร่วมมือกันนี้ นอกจากเป็นการลดต้นทุนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สามารถนำรายการมาออกอากาศซ้ำได้อีก รวมถึงสามารถแลกเปลี่ยนรายการกันได้ ประโยชน์ก็จะเกิดกับผู้ชมโดยรวม

.
6. นอกจากร่วมเป็นพันธมิตรกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ระดับภูมิภาคแล้ว เคเบิลทีวียังสามารถร่วมเป็นพันธมิตรกับสถานีเคเบิลอื่นๆ จากต่างถิ่น ร่วมเป็นพันธมิตรกับสถานีเคเบิลระดับชาติ ร่วมเป็นพันธมิตรกับสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ ได้อีก ระดับความร่วมมือก็อาจมีตั้งแต่การซื้อขายแลกเปลี่ยนรายการไปจนถึงการร่วมผลิตหรือร่วมทุน หรือร่วมกันระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เมื่อถึงเวลานั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็จะส่งถึงผู้รับและอุตสาหกรรมด้านโทรทัศน์โดยรวม

.
สรุป

.
การเกิดขึ้นของระบบบริการโทรทัศน์แบบเคเบิลนั้น มีที่มาจากความต้องการของประชาชน เป็นการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน

______________________________

เอกสารที่อ้างถึง

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๔๐
2. ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ….. , ร่างที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ ๔๕๑/๒๕๔๓
3. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
4. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ “วิทยุเพื่อการศึกษา ในยุค ‘ธนานุวัตร’” ใน จับจ้องมองสื่อ โครงการสื่อสันติภาพ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2541
5. Callahan, Jennie Waugh. Television in School, College, and University, McGraw-Hill, New York 1953
6. Gross , Lynne Schafer , Telecommunications: An Introduction to Electronic Media, 6th Ed., Brown and Benchmark, Madison ,Wisconsin 1997

.
[1] ช่องเคเบิลที่ล้มเหลวและเลิกกิจการก็มีไม่น้อยเช่นกัน หลายชื่อที่กล่าวถึงข้างต้น ในภายหลังก็ต้องรวมตัวหรือขายกิจการ

.
[2] กรรมการร่วมหมายถึงกรรมการร่วม กสช. และ กทช. ที่มีอำนาจหน้าที่ในด้านของโทรคมนาคม ที่กำเนิดภายใต้ พรบ. เดียวกัน และให้คณะกรรมการทั้งสองทำงานร่วมกันในการกำหนดแผนแม่บท และในเรื่องที่ต้องดำเนินการร่วมกันในฐานะคณะกรรมการร่วม

.
[3] ผู้เขียนขีดเส้นใต้เพื่อเน้นข้อความที่เกี่ยวข้อง

.
[4] คำนำจากหนังสือ Television in school, College, and Community โดย Jennie Waugh Callahan. 1953

.
[5] รู้จักกันในนามสถานี PBS หรือ Public Broadcasting Service ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดการเรื่องรายการ ของ Corporation for Public Broadcasting บริษัทที่จัดตั้งโดยทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐ

.
[6] ประธานาธิบดีนิกซ์สันตัดงบสนับสนุน ด้านรายการของ Corporation for Public Broadcasting ดังอธิบายใน Telecommunications ของ Lynne Schafer Gross 1997

.
[7] วิทยุศึกษาพยายามหารายได้โดยมีดำริจะให้เอกชนเข้าดำเนินการ และมีโฆษณา โปรดดูข้อเขียนของ เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์


.










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น